รมช.ลักษณ์ เปิดโครงการอบรมเกษตรกร Farmers to Farmers

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดโครงการอบรมเกษตรกร Farmers to Farmers ณ เตือนใจฟาร์ม – สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จ.สระบุรี ว่า บริษัท ฟรีแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีโครงการอบรมเกษตรกรในโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้โดยตรงจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมชาวเนเธอร์แลนด์ผู้มีประสบการณ์และความชำนาญ สู่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทย ผ่านโครงการพัฒนาโคนมและคุณภาพน้ำนม (Dairy Development Program) โดยมุ่งยกระดับฟาร์มโคนมไทยให้ได้มาตรฐานสากด ด้วยจุดคุ้มทุน ทั้งด้านปริมาณผลผลิต คุณภาพน้ำนมที่ดี ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ การดำเนินงานในโครงการดังกล่าว ยังมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศไทย โดยได้ดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ซึ่งโครงการฯ นี้เป็นการส่งตรงความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการจัดการฟาร์มโคนมจากเนเธอร์แลนด์สู่เกษตรกรไทย เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมชาวเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านการเลี้ยงโคนม การเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อตัว การปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบ รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตของฟาร์ม ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนมให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนมจะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องมีการทำงานที่มีการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สหกรณ์โคนม ภาคเอกชน และภาครัฐ ได้แก่ ส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดสระบุรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จที่สวยงามในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมของประเทศไทย

สำหรับในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความตั้งใจจริงที่จะให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในการผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ซึ่งได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นมปี 2560 – 2569 โดยมุ่งสร้างอุตสาหกรรมโคนมไทยทั้งระบบให้ได้มาตรฐานสากลภายใน 10 ปี ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ ที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและองค์กรโคนม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาการผลิตน้ำนมโคและอุตสาหกรรมโคนมให้ได้มาตรฐานสากล ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการบริโภคนมและพัฒนาผลิตภัณฑ์นมเพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการใช้ประโยชน์ และยุทธศาสตร์ที่ 5 การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้การเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกร โดยยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นมฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งในองค์กรโคนม และบูรณาการการบริหารจัดการอุตสาหกรรมโคนมของประเทศ อีกทั้งเพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรในการผลิตน้ำนมโค และพัฒนาระบบอุตสาหกรรมนมของประเทศให้ยั่งยืน มีมาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

***************************************************************