พลัง “บวร” เมืองอุบลฯ นำโดย พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัด มท. ขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ขยายผลสู่สถานศึกษา

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 ด้วยความเมตตาจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.บุญฟ้า ลิ้มวัธนา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังอ้อ (ยอดสังข์วิทยา) พร้อมด้วย ผู้นำชุมชน และวิทยากรจากศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ให้การต้อนรับ ดร.ถาวร คุณิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 พร้อมคณะบุคลากรทางการศึกษา และนายทรงพล กรธนทรัพย์ คุณทรงพล กรธนทรัพย์ ผู้ขุดโคก หนอง นา วังอ้อ โมเดล 20 ไร่ โดยไม่คิดค่าเช่าเครื่องจักรกลทั้งรถแบคโฮ รถไถ รถทอยดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เข้ากราบนมัสการพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมความพร้อมและขยายผลการดำเนินโครงการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ: Sufficiency Economy Development Zones) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1

โอกาสนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เมตตากล่าวถึงแนวทางในการเข้าร่วมโครงการฯ ว่า เป็นการขยายผลโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งรัฐบาลได้มีแนวทางการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนตามแนวทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ จึงได้เสนอการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยภาครัฐจะได้สนับสนุนการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์พื้นฐาน อำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ที่จำเป็น ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ ภาควิชาการในพื้นที่ร่วมพัฒนาและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ ต่อยอดด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสม โดยมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการบริหารงานโครงการ วางแผน พัฒนาและต่อยอดผลผลิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของการพัฒนาพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพในกรพัฒนา พื้นที่ประสบปัญหาภัยพิบัติซ้ำซาก และใช้โอกาสจากภาคแรงงานที่มีทักษะและศักยภาพที่ประสบกับปัญหาการเลิกจ้างจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กลับไปยังบ้านเกิดเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย ด้วยการให้ความรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ ควบคู่กับการศึกษาถึงรากเหงาภูมิปัญญาดั้งเดิม และเพิ่มพูนด้วยชุดความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และภูมิสังคม เพื่อพัฒนาหรือยกระดับเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ภายในปี 2030

ในส่วนของ ดร.ถาวร คุณิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 ได้เสนอข้อมูลถึงความเป็นไปได้และการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขยายผลสู่สถานศึกษา โดยกำหนดเขตพื้นที่เป้าหมายโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 ที่มีความพร้อมในการดำเนินงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ โดยจะนำข้อมูลเพื่อไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และรับสมัครโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ โดยเร็วต่อไป

จังหวัดอุบลราชธานี นั้น ถือเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทย ที่สนใจและให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการฯ ถือเป็นจังหวัดที่นำร่องการดำเนินงานและต้นแบบในการขับเคลื่อนนโยบายและโครงการสำคัญต่างๆ ของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ได้อย่างเป็นรูปธรรมตลอดมา โดยปัจจุบัน มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เบื้องต้นประมาณ 502 ราย พื้นที่กว่า 5,110 ไร่ และกำลังอยู่ระหว่างการประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ และภาคีเครือข่ายในจังหวัดฯ โดยโครงการฯ นั้นจะสามารถพิจารณากำหนดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมร่วมกับภาคประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ ที่จะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ช่วยการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนา ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ หลัก “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ) “บรม” (บ้าน โรงเรียน/ราชการ มัสยิด) “ครบ” (คริสต์ โรงเรียน/ราชการ บ้าน) รวมถึงแนวพระราชดำริต่าง ๆ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) การพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ Policy Sandbox ภายใต้การปฏิรูประบบราชการ และแนวทางการพัฒนาโดยใช้ศาสตร์อื่น ๆ เพื่อมาเป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่

นอกจากนั้น ยังเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจและเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินข้าร่วมโครงการภายใต้เงื่อนไขสำคัญที่พื้นที่ที่เข้าร่วมนั้น ต้องพัฒนาให้สามารถประโยชน์สุขร่วมกันตามนโยบายของรัฐบาลในการขจัดปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นพื้นที่มีความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันที และต้องได้รับการยินยอมให้ใช้พื้นที่และจดทะเบียนการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยจังหวัดอุบลราชธานี จะจัดส่งข้อมูลไปยังกระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ต่อไป

#WorldSoilDay
#GlobalSoilPartnership
#UNFAO
#กรมการพัฒนาชุมชน
#CDD
#SEPtoSDGs
#SDGforAll@Kmitl
#WorldSoilDayCDD

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน