พช.ไชโย ร่วมกับ เครือข่ายครัวเรือนโคก หนอง นา พช.ไชโย น้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำกิจกรรม “วันดินโลก”

พช.ไชโย ร่วมกับ เครือข่ายครัวเรือนโคก หนอง นา พช.ไชโย น้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำกิจกรรม “วันดินโลก” ฟื้นฟูแปลงครัวเรือนต้นแบบที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

วันศุกร์ ที่ 3 ธันวาคม 2564 เวลา 16.00 น. พ.อ.อ. ทรงพล ฉายแสง พัฒนาการอำเภอไชโย พร้อมด้วยนายพงษ์เพชร อเนกบริบูรณ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดอ่างทอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไชโย ร่วมกับ สำนักงานเกษตรอำเภอไชโย เครือข่ายครัวเรือนโคก หนอง นา พช.ไชโย และจิตอาสาอดีตทีมนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ทำกิจกรรม “วันดินโลก” เพื่อร่วมน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบฯ ของนางสมบูรณ์ ศรีเพ็ชร หมู่ 5 ต.จรเข้ร้อง ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นการฟื้นฟูแปลงครัวเรือนต้นแบบฯ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ อ.ไชโย ครั้งที่ผ่านมา

“วันดินโลก (World Soil Day)” คือ วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันสำคัญที่นักปฐพีวิทยาทั่วโลก 60,000 คน จะเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี ซึ่งนักปฐพีวิทยาของไทยทุกคนภาคภูมิใจ เนื่องจากวงการปฐพีวิทยานานาชาติ มีฉันทานุมัติเลือกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันดินโลก และนักปฐพีวิทยาของไทยมีส่วนร่วมในการเชิดชูพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรดินขององค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

ในการนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ร่วมกันพื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยในแปลงดังกล่าว เริ่มต้นจากการพื้นฟูดิน คืนชีวิตให้ผืนดิน โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
1. ห่มฟาง หรือ การคลุมดินโดยใช้ฟาง ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เป็นการใส่อาหารให้แก่ดินด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไปด้วยกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ตามหลักการ “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช”
2. เพาะเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อเตรียมต้นกล้าผักให้พร้อมปลูกเมื่อสภาพดินฟื้นฟูกลับมาพร้อมสำหรับทำการเกษตร
3. ปลูกต้นไม้ทดแทนไม้ยืนต้นที่เน่าเสียหายจากน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่
4. ปลูกตะไคร้ ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรประจำครัวของคนไทยที่หาได้ง่ายในชุมชน เพื่อช่วยในการลดการพังทลายของหน้าดิน
5. ทำปุ๋ยหมักแห้ง และปุ๋ยหมักน้ำ สำหรับเติมธาตุอาหารให้แก่ผืนดิน

ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรม ยึดแนวทางภายใต้มาตรการ New Normal อย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

ภาพข่าว/รายงาน : สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไชโย

#กรมการพัฒนาชุมชน
#WorldSoilDay
#GlobalSoilPartnership
#UNFAO
#CDD
#SEPtoSDGs
#SDGforAll