กรมชลประทาน เผยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ชวนทุกภาคส่วนประหยัดน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอ

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ สำหรับในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯน้อยเป็นปกติของช่วงหน้าแล้ง ส่งผลมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าร้อยละ 30 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์, ทับเสลา และกระเสียว อ่างฯที่มีปริมาณน้ำเก็บกักระหว่างร้อยละ 30-60 มีจำนวน 16 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล, แม่กวงอุดมธารา, แควน้อยบำรุงแดน, แม่มอก, ห้วยหลวง, น้ำอูน, จุฬาภรณ์, ลำปาว, ลำพระเพลิง, มูลบน, ลำแซะ, ลำนางรอง, สิรินธร, ป่าสักชลสิทธิ์, ขุนด่านปราการชล และคลองสียัด แต่ยังสามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตามปกติ ส่วนสถานการณ์น้ำในการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ เว้นแต่อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ และสิรินธร ที่มีปริมาณน้ำน้อย ระบายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เท่านั้น ขณะที่การระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชหน้าแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ระบายน้ำรวมกันประมาณ 45 ล้าน ลบ.ม./วัน โดยเริ่มระบายน้ำตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 ยังคงเหลือปริมาณน้ำที่จะต้องระบายตามแผน 2,164 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าจะเหลือปริมาณน้ำใช้การได้เมื่อสิ้นสุดการระบายน้ำหน้าแล้งปีนี้ (61/62) รวม5,447 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้จัดสรรน้ำตลอดช่วงหน้าแล้งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำของประชาชนและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้สามารถสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำทั้งด้านอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ การเกษตร และอื่นๆ ได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งยังสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2562 ของทั้งประเทศประมาณ 20,000 ล้าน ลบ.ม. ในเฉพาะ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาประมาณ 5,900 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืนด้านน้ำในอนาคต พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว (นาครั้งที่ 2) ไม่เพาะปลูกต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดและขอให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุดด้วย

******************************************

ขอบคุณแหล่งที่มา :  สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์