รพ.ราชวิถี นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสู่ Smart Hospital

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ พัฒนาความเป็นเลิศด้านการบริการให้เป็นโรงพยาบาล Smart Hospital ด้วยนโยบาย Smart Healthcare นำระบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาจัดเก็บระบบข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพ ระบบยา ห้องปฏิบัติการ และบุคลากร ตลอดจนระบบจัดการคิวอัจฉริยะ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา การเข้าถึงข้อมูลผู้รับบริการ มีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำในการรักษา ลดความแออัด และลดระยะเวลาการรอคอย

วันที่ (20 กุมภาพันธ์ 2562) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี ครั้งที่ 30 ประจำปี 2562 ในหัวข้อ “The Best for the Most : Reform to Smart Hospital” ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทำให้หลายๆ ประเทศมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรมไปเป็นภาคบริการ รวมถึงการนำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข กรมการแพทย์ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ที่มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการเข้าถึงข้อมูลผู้รับบริการมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เพื่อลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอย กรมการแพทย์จึงได้ปฏิรูปบริการทางการแพทย์ 4 ด้าน ดังนี้ 1. Agenda Reform ระบบบริหารจัดการ ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง มะเร็งและยาเสพติด 2. Area Reform ระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ เน้นการทำงานแบบ Co – Creation ร่วมกับเขตสุขภาพ 3. System Reform ระบบ Digital Hospital โดยนำ Digital Technology มาใช้ในสถานพยาบาลในสังกัดเพื่อยกระดับให้เป็น Smart Hospital  4. Functional Reform ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งนอกจากจะมีการขับเคลื่อนในมิติเศรษฐกิจแล้วยังต่อยอดในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรมด้านการแพทย์ เพื่อเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต ในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลราชวิถีพัฒนารูปแบบและนวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery) เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดการรอคอยลดความแออัด  เข้าถึงบริการที่มีมาตรฐาน การเปิดระบบจัดการคิวอัจฉริยะ “เดินหน้าสู่ Digital Hospital” ซึ่งผู้รับบริการสามารถ รู้ระยะเวลาการรอคอยของตนเองได้ตลอดเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) แม้ไม่อยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาล รวมถึงนวัตกรรมนาฬิกาอัจฉริยะเตือนภาวะน้ำตาลต่ำในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ.2562 เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข นำเสนอผลการศึกษาวิจัย โดยมีการเสวนาเชิงวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้า ของสหวิชาชีพต่างๆ ทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์สังกัดอื่นๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และวิทยากรจากต่างประเทศ เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีและเป็นภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ รวมทั้งเปิดโลกทัศน์ สร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าร่วมประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพในอนาคต

*************************************************************