สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนพฤศจิกายน 2564

 

ภาพรวม ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.71 (YoY) จากร้อยละ 2.38 ในเดือนก่อนหน้า ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ประกอบกับฐานราคาปีที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำ รวมถึงราคาผักสด ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจากช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ เนื้อสุกร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุน สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวสาร ไก่สด ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำดื่มบริสุทธิ์ กาแฟผงสำเร็จรูป) และเสื้อผ้า ส่วนสินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกลไกของตลาดในปัจจุบัน

เงินเฟ้อในเดือนนี้ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งมาตรการด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ในประเทศ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมและกำลังซื้อของประชาชนปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ทิศทางของเงินเฟ้อดังกล่าวสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ด้านอุปสงค์สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และมูลค่าการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่สูงขึ้นร้อยละ 10.4 จากร้อยละ 10.0 ในเดือนก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ที่กลับมาอยู่ในระดับความเชื่อมั่นอีกครั้ง จากระดับ 48.8 มาอยู่ที่ระดับ 50.7 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น จากระดับ 43.4 มาอยู่ที่ระดับ 45.2 ซึ่งต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นเล็กน้อย ส่วนด้านอุปทานสะท้อนได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่สูงขึ้นร้อยละ 8.5 จากร้อยละ 6.9 ในเดือนก่อนหน้า

เงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้นร้อยละ 0.29 (YoY) จากร้อยละ 0.21 ในเดือนก่อน เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.28 (MoM) และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.- พ.ย.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.15 (AoA) (ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ย ในปี 2564 จะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.8 – 1.2)

แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป

เงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2564 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงและมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง ส่วนราคาสินค้าในกลุ่มอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการ ปริมาณผลผลิต ต้นทุนและวัตถุดิบ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและการท่องเที่ยวซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ และกระทบต่อเงินเฟ้อของไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (Omicron) ที่สร้างความกังวลไปทั่วโลก ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.8 – 1.2 (ค่ากลางอยู่ที่ ร้อยละ 1.0) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

สำหรับทิศทางเงินเฟ้อปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของ อุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัว ของภาคการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าและการผลิต รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ อุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจะส่งผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อค่อนข้างมาก สำหรับด้านอุปทานที่จะส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาอาหารสดที่น่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการและสภาพอากาศ
ที่กระทบต่อผลผลิต และสินค้าในหมวดอื่น ๆ น่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิต การขนส่งและเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนอุปทานด้านน้ำมันดิบ คาดว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะทยอยปรับกำลัง
การผลิตเพื่อให้สมดุลกับความต้องการ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ของไทยอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวน รวมถึงมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 จะเคลื่อนไหวระหว่างร้อยละ 0.7 – 2.4 ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2565