นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ GTRA Workshop ครั้งที่ 6

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ GTRA Workshop ครั้งที่ 6 และลงนามความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายเกออร์ก ชมิดท์เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ GTRA Workshop ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “High Speed Rail: The Changing Face of Thai Railways. In the Series of Railway Technology, Operations and Management” การประกาศก่อตั้งสมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย (German – Thai Railway Association: GTRA) อย่างเป็นทางการ และร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑรูย์พงษ์ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย – เยอรมนี และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ณ กระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงนามต่ออายุความตกลงแสดงเจตจำนงฯ ระหว่างสองประเทศ เป็นพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านระบบรางที่เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังได้พัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดเวลาการเดินทางและเชื่อมโยงธุรกิจและการค้า รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นหัวข้อหลักของการสัมมนาในวันนี้ โดยรถไฟความเร็วสูงนั้น ประเทศไทยอยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 2 เส้นทาง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านคมนาคมในภูมิภาคต่อไป

ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้วิจัยค้นคว้าและผลิตเทคโนโลยีระบบรางมาอย่างยาวนาน โครงการรถไฟฟ้าหลายโครงการได้ใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี จึงมั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทยเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับในเยอรมนี จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย ได้ก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ รวมถึงประสานความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างเยอรมัน – ไทย ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันด้านระบบราง โดยหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนให้ความรู้และฝึกอบรมในทุกระดับ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Thai First เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป

กระทรวงคมนาคมได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 โดยแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ มีอายุ 3 ปี และอาจมีการต่ออายุได้อีก 2 ปี อย่างต่อเนื่องกัน ตามความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้ต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ รวม 2 ครั้ง ซึ่งการต่ออายุในครั้งนี้ เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและกระชับความร่วมมือด้านระบบราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการขนส่งทางรถไฟ และระบบขนส่งมวลชนในเมือง ฝ่ายไทยและฝ่ายเยอรมนีได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ ได้แก่ การจัดตั้งสมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย ซึ่งได้รับการจดทะเบียน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยกับมหาวิทยาลัย RWTH-Aachen และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดรสเดน (DU-Dresden) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร โดยมีภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการด้านรถไฟฟ้า และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุมฯ ที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง

การประชุมเชิงปฏิบัติการหรืองานสัมมนาวิชาการ GTRA Workshop ในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมระบบเยอรมัน – ไทย ร่วมกันจัดงานสัมมนาฯ ในหัวข้อ “High Speed Rail: The Changing Face of Thai Railways. In the Series of Railway Technology, Operations and Management” โดยเน้นเรื่องเทคโนโลยี การดำเนินงาน และการจัดการรถไฟความเร็วสูง มีวิทยากรพิเศษร่วมบรรยาย ได้แก่ ศาสตราจารย์ อาร์นด สเตฟาน (Arnd Stephan) ประธานสาขารถไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดรสเดน ประเทศเยอรมนี นายเสกแมนเม๊ก (Sek Man Mak) ผู้อำนวยการโครงการรถไฟความเร็วสูงจากบริษัท เอเชีย เอรา วัน และรองศาสตราจารย์ ดร. วเรศรา วีระวัฒน์ รองหัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ GTRA Workshop ศาสตราจารย์ ดร. นิสัย เพื่องเวโรจน์สกุล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิริธร ไทย – เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และประธานสมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย (GTRA) กล่าวนำเสนอภาพรวมภารกิจของ GTRA ให้ผู้เข้าร่วมงานรับทราบ