วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. ณ หอประชุมพญานาครินทร์ ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีนายธนูสินธ์ ไชยสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นางสาวรักนิกร แสนทวีสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนากานจังหวัดอำนาจเจริญ นางศุภิสรา แสงบุตร ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นายอำเภอ พัฒนาการอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน สาวนรสชการ และภาคีการพัฒนา เข้าร่วมประชุมฯ
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจน และให้ความเห็นว่าปัญหาความยากจนแต่ละพื้นที่มีลักษณะและความจำเพาะของปัญหาที่แตกต่างกันไปการพัฒนาระบบ TPMAP ที่สามารถระบุสภาพปัญหาและความต้องการจำแนกได้ตามพื้นที่และตัวบุคคลจะสามารถเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่สำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับข้อมูล TPMAP ตั้งต้นโดยใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จากกรมการพัฒนาชุมชน และข้อมูลผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากกระทรวงการคลัง มายืนยันซึ่งกันและกัน หรืออีกนัยหนึ่ง “คนจนเป้าหมาย” ใน TPMAP ก็คือ คนจนใน จปฐ. ที่ไปลงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
การประชุมครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ โดยมุ่งขจัดความยากจนของ “คนจนเป้าหมาย” ใน TPMAP ซึ่งจากการสำรวจ ปี 2562 จังหวัดอำนาจเจริญ มีคนจนเป้าหมาย จำนวน 1,802 คน จาก 1,001 ครัวเรือน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้เน้นย้ำและมอบแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1. ตรวจสอบรายชื่อคนในครัวเรือนที่ตกเกณฑ์อีกครั้ง (re-check) ว่าตกจริงหรือไม่ ตกเพราะอะไร และให้สำรวจเพิ่มเติมจากชุมชนว่ามีคนที่ยากจนจริงแต่ไม่ได้ถูกสำรวจหรือไม่
2. จำแนกประเภทคนที่ตกเกณฑ์ว่า อยู่ประเภทสงเคราะห์อย่างเดียว หรือประเภทพัฒนาได้ และหากพัฒนาได้ต้องแบ่งเกรด A,B,C เพื่อให้สามารถส่งเสริมได้อย่างเหมาะสม มีการจับคู่ Buddy ในการช่วยเหลือและสนับสนุน
3. คัดเลือก Best Practice ที่ประสบผลสำเร็จ พร้อมถอดบทเรียน
ทั้งนี้ มอบหมายสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ จำแนกรายชื่อคนจนเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และดำเนินการขับเคลื่อนงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในเวลา 6 เดือน