ทส. เผยผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2561

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2561 ตามนโยบายรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี พลเอก สุรศักดิ์  กาญจนรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายโสภณ ทองดี โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการพัฒนาของประเทศในด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น การทำการประมง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การพัฒนาแหล่งชุมชนและอื่นๆ ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมาก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการใช้ที่ดินชายฝั่งทะเลมากจนเกิดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ และมีการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างรุนแรง พื้นที่ป่าชายเลนลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการบุกรุกและเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆ รวมถึงปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ

โดยใน ปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีผลการดำเนินงาน ดังนี้

  1. การบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ประมาณ 2.86 ล้านไร่ มีการบริหารจัดการ ดังนี้ การดำเนินการทวงคืนผืนป่าชายเลน จำนวน 219 คดี เป็นพื้นที่รวม 8,813.08 ไร่ การฟื้นฟูและปลูกป่าในพื้นที่ป่าชายเลน เป็นพื้นที่รวม 5,416 ไร่ การจัดการปัญหาที่ดินทำกิน/ที่อยู่อาศัย โครงการจัดที่ดินทำกินให้แก่ชุมชน 252 แห่ง เป็นพื้นที่รวม 1,972 ไร่ การกำหนดและประกาศเขตพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ตามมาตรา ๑๘ และกำหนดมาตรการคุ้มครองตามมาตรา ๒๓ โดยดำเนินการจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ จำนวน 6 พื้นที่ และ โครงการป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” ทั้งหมด 20 โครงการ ครอบคลุม 16 จังหวัดชายฝั่งทะเล ปัจจุบันได้เปิดโครงการป่าในเมืองไปแล้ว 18 โครงการ ใน 14 จังหวัด
  2. การบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล พื้นที่ที่เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นระยะทางทั้งสิ้น 704.44 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 22.35 ของชายฝั่งทะเลไทย ดำเนินการแก้ไขแล้ว 558.71 กิโลเมตร
  3. พื้นที่คุ้มครองทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีแผนการประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 13 พื้นที่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง ระยอง ตราด พังงา ภูเก็ต ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ปัตตานี และนครศรีธรรมราช
  4. การบริหารจัดการขยะทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนิน “โครงการบริหารจัดการขยะทะเล” เพื่อสอดรับกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) ดังนี้ โครงการชายหาดปลอดบุหรี่ นำร่อง 24 แห่ง ในพื้นที่ 15 จังหวัดชายฝั่งทะเล สามารถเก็บจำนวนก้นบุหรี่ที่เก็บจากจุดสูบบุหรี่จำนวน 2.9 ล้านชิ้น (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 –15 ธันวาคม 2561) การดำเนินมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ระงับการกระทำ หรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การเก็บขยะชายหาดสากล ในพื้นที่รับผิดชอบ 24 จังหวัด มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 10,076 คน สามารถเก็บรวบรวมขยะได้ทั้งสิ้น 253,889 ชิ้น น้ำหนักรวม 16,082 กิโลกรัม และการจัดทำมาตรการลดปริมาณขยะทะเล โดยดำเนินการกับกลุ่มที่คาดว่าเป็นแหล่งกำเนิดขยะทะเล ได้แก่ กลุ่มเรือประมงพาณิชย์ เรือประมงพื้นบ้าน ชุมชนชายฝั่ง และผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยว/นักท่องเที่ยว
  5. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร ดังนี้ 1) พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ได้ดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ทช. จำนวน 15 ฉบับ และอยู่ระหว่างการจัดทำเพิ่มเติม อีกจำนวน 10 ฉบับ 2) การส่งเสริมการมีส่วนร่วม (อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล/เครือข่ายชุมชน) มีการจัดตั้งเครือข่าย จำนวน 11,412 คน และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) จำนวน 11,782 คน และ 3) การจัดตั้งศาลาพิทักษ์ทะเล เพื่อคุ้มครอง เฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเล จำนวน 26 แห่ง ใน 24 จังหวัด
  6. สัตว์ทะเลหายาก ดำเนินการสำรวจประเมินสถานภาพสัตว์ทะเลหายาก พบการวางไข่ของเต่าทะเล จำนวน 333 หลุม โลมาและวาฬในธรรมชาติ จำนวน 699 ตัว พะยูน จำนวน 200 ตัว ปลาฉลามวาฬ จำนวน 13 ตัว การดำเนินการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นของประเทศไทย พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตของสัตว์ทะเลหายากหลังการช่วยชีวิต จากจำนวนสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นมีชีวิตทั้งหมด 236 ตัว คิดเป็นสัตว์ทะเลที่รอดชีวิต (ปล่อยคืนสู่ทะเล + อยู่ในระหว่างการพักฟื้น) มีจำนวน 206 ตัว คิดเป็นร้อยละ 86.90 สัตว์ทะเลหายากเกยตื้นที่ได้รับผลกระทบจากขยะทะเล มีทั้งหมด 129 ตัว ผลการอนุบาลและเพาะขยายพันธุ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ได้อนุบาลเต่าทะเลเพื่อฟื้นฟูโดยการปล่อยคืนกลับสู่ธรรมชาติได้ ทั้งหมด 855 ตัว