ก.แรงงาน – จุฬาฯ จ่อเอ็มโอยูตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ วางบิ๊กดาต้า รองรับเทคโนโลยี 4.0

ก.แรงงาน จับมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมลงนามความร่วมมือจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ วางบิ๊กดาต้า เป็นศูนย์บริหารจัดการแรงงานของประเทศ รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีเอไอ กำหนดนโยบายด้านแรงงานในยุค 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลและ รมว.แรงงาน

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.30 น. นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานการประชุมที่ปรึกษาและคณะกรรมการอำนวยการศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องประชุม 201 อาคารจามจุรี 3 ชั้น 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ผู้บริหารกระทรวงแรงงานและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย โดยในการประชุมฯ ได้มีการพิจารณาถึงแนวทางความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ ระหว่างกระทรวงแรงงาน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อกำหนดนโยบายและกรอบแนวทางความร่วมมือ และการดำเนินงานร่วมกันอย่างชัดเจน ซึ่งได้พิจารณาจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาการวิจัยและนักวิจัยด้านแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร่างกำหนดการพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา

นายจรินทร์ฯ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาการวิจัยและนักวิจัยด้านแรงงาน ระหว่างกระทรวงแรงงานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร่างกำหนดการพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและบรรลุตามวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เป็นศูนย์ประสานความร่วมมือด้านการวิจัย ระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อสร้างความร่วมมือเชิงวิชาการกับเครือข่ายกับสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และระหว่างประเทศ 2) เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยของกระทรวงแรงงานและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) เพื่อกำหนดประเด็นการวิจัยที่สำคัญและดำเนินการวิจัยร่วมกัน ในการพัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 4) เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการและรองรับความร่วมมือกับภาคีด้านแรงงานทั้งในและต่างประเทศ และ 5) เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลด้านแรงงานเป็น Big data และการพัฒนาบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการและประโยชน์ต่อประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาลและ รมว.แรงงาน

“การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Disruptive technology) และปัญญาประดิษฐ์ (AI ) จะส่งผลต่อตลาดแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งผู้ประกอบการ กระทรวงแรงงาน จึงได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินงานจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ ให้เป็นศูนย์ที่สามารถบูรณาการและบริหารจัดการฐานข้อมูลด้านแรงงานของประเทศได้อย่างครบวงจร รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการศึกษาวิจัยประเด็นด้านแรงงาน ยกระดับการพัฒนาฐานข้อมูลและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย รวมถึงเป็นฐานข้อมูลที่ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ และสามารถวางแผนอนาคตในการพัฒนาแรงงานให้ก้าวทันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0 ได้อย่างยั่งยืนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายจรินทร์ฯ กล่าวในท้ายสุด

******************************************