สรพ. ร่วมกับกรมควบคุมโรค และจังหวัดเชียงราย ลงนามบันทึกความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และแพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ร่วมลงนามความร่วมมือ และร่วมงานโครงการเครือข่ายการขับเคลื่อนยุติปัญหาเอดส์ระดับจังหวัด “Empowering & Collaborating for Ending AIDS” ที่จัดขึ้น ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเฮอริเทจเชียงราย จังหวัดเชียงราย

สำหรับการจัดทำความร่วมมือในครั้งนี้ กรมควบคุมโรค กับ จังหวัดเชียงราย และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) จะร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายระดับจังหวัดเพื่อยุติเอดส์ ในการร่วมกันดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการการดำเนินงานการส่งเสริม ป้องกัน ดูแล รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จากทุกภาคส่วน โดยจะร่วมกันประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และดำเนินการร่วมกันผลักดันการพัฒนาคุณภาพของระบบการป้องกัน ดูแล รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ระดับจังหวัด อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี โดยประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายในชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ สถานพยาบาล ในภาครัฐและเอกชน เพื่อเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวก ลดการแบ่งแยก ตีตรา การเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะ

แพทย์หญิงปิยวรรณ เปิดเผยว่า “ปัญหาโรคเอดส์เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยองค์กรใดองค์หนึ่ง ดังนั้น สรพ. ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมในการขับเคลื่อน โดย สรพ. ก็จะส่งเสริม สนับสนุนการเผยแพร่องค์ความรู้ ในการนำมาตรฐานเครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัด มาเป็นกลไกการขับเคลื่อนการยุติปัญหาเอดส์ของจังหวัด และหวังว่าจังหวัดเชียงรายจะเป็นจังหวัดแรกที่จะได้รับการรับรอง ด้วยการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายของในระดับจังหวัด สิ่งที่จะทำให้เกิดการรับรองที่รวดเร็วคือการความพร้อมของเชียงรายที่มีทั้งความพร้อมในเชิงนโยบาย ความพร้อมในเชิงวิชาการและที่สำคัญคือความร่วมมือของเครือข่ายภาคีต่างๆ ประเด็นที่สองคือ การมีส่วนในกระตุ้นและส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพบริการ ตลอดจนการป้องกัน ดูแล รักษา และการคงอยู่ในระบบของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในสถานพยาบาล ให้มีคุณภาพและความปลอดภัย ดิฉันหวัง ว่าการขับเคลื่อนการยุติปัญหาเอดส์ของจังหวัดเชียงรายจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าองค์ประกอบไม่ครบทั้ง 3P ซึ่งเห็นชัดเจนมากที่นี่ P แรกคือ Patient ผู้ป่วยในการให้ความร่วมมือ การรับประทานยา การไปเข้ารับตรวจรับการรักษา และ P ที่ 2 คือ Personnel หรือบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการในการตรวจรักษา และP สุดท้าย ที่เห็นชัดเจนเมื่อเช้าได้มีโอกาสเยี่ยมชมบูธนิทรรศการ ที่นี้มี P ที่ 3 คือ People ที่พร้อมที่จะเข้าใจ ไว้ใจและให้โอกาส พร้อมที่จะเปิดโอกาส”