สสส. กรมสุขภาพจิต กรมกิจการเด็กฯ และภาคีเครือข่ายส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ผุดกิจกรรมออนไลน์ “อ่านยาใจ : สร้างภูมิคุ้มใจเด็กปฐมวัย” ผ่านเฟซบุ๊ก “อ่านยกกำลังสุข” พร้อมเปิดตัวนิทานภาพ “ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย”

สสส. กรมสุขภาพจิต กรมกิจการเด็กฯ และภาคีเครือข่ายส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ผุดกิจกรรมออนไลน์ “อ่านยาใจ : สร้างภูมิคุ้มใจเด็กปฐมวัย” ผ่านเฟซบุ๊ก “อ่านยกกำลังสุข” พร้อมเปิดตัวนิทานภาพ “ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย” มุ่งปลุกพลังบวกเด็กเล็ก มองความสูญเสีย-พลัดพรากอย่างเข้าใจ

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คน ที่สำคัญคือ สมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย ที่ต้องสูญเสียปู่ ย่า ตา ยาย หรือพ่อแม่ ยังไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องสูญเสียได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เด็กเกิดความกังวล ความเศร้า ความหวาดกลัว นำไปสู่ความเครียด เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพด้านจิตใจในระยะยาว สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงร่วมมือกับ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ธนาคารจิตอาสา มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จัดงาน “อ่านยาใจ : ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย” บทสนทนาและนิทาน สื่อเรียนรู้ความสูญเสียและปลุกพลังบวกเพื่อเด็ก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของเด็กเล็กให้มีความพร้อมรับมือ กับโรคอุบัติใหม่อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน พัฒนาองค์ความรู้ในรูปแบบหนังสือนิทานภาพชุด และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดยมีนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตร่วมบริการให้คำปรึกษา ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “อ่านยกกำลังสุข” เพื่อให้ผู้ดูแลเด็กเล็กนำไปใช้เป็นเครื่องมือและกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพและสุขภาวะเด็กปฐมวัย ในการสื่อสารถึงความสูญเสียให้กับเด็กเล็กในครอบครัว โดยการพูดคุย อธิบาย หรือตอบคำถามให้เด็กเล็กเข้าใจ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสุขภาวะด้านจิตใจให้แก่เด็กปฐมวัย บรรเทาความเครียด วิตกกังวลที่เกิดขึ้นกับคน ในครอบครัว และช่วยลดปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในระยะยาว

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การสูญเสียบุคคลในครอบครัวโดยไม่ได้กล่าวอำลา ไม่มีกระบวนการ ไว้อาลัยเพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทำให้วิธีการดูแลสุขภาพจิตของคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ดูแลเด็กต้องใส่ใจ เนื่องจากเด็กปฐมวัยยังไม่เข้าใจว่า การเสียชีวิตเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิต การใช้สื่อนิทานเล่าเรื่องราวการสูญเสียกับเด็กปฐมวัยจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมทางจิตวิทยา ก่อนที่จะบอกถึงการสูญเสียบุคคลใกล้ชิดอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอาจจะทำให้เด็กปฐมวัยมีพฤติกรรมในการปลอบตัวเอง อาทิ ดูดนิ้ว โยกตัว มีความต้องการอยู่ใกล้ผู้ใหญ่ที่ดูแลมากขึ้น แต่หากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังคงอยู่นาน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ในสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรศัพท์ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ช่วงปฐมวัยเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ หากผู้ใหญ่ในครอบครัวตระหนักและเข้าใจ ทุกภาคส่วนร่วมเข้ามาดูแล พัฒนา ปกป้อง คุ้มครอง ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ว่า “เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยไม่เลือกปฏิบัติ” โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตของสถานการณ์ที่ไม่ปรกตินี้ จะช่วยบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว และช่วยลดปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในระยะยาวได้

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า การจัดงาน “อ่านยาใจ : ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย” บทสนทนาและนิทาน สื่อเรียนรู้ความสูญเสียและปลุกพลังบวกเพื่อเด็ก ครั้งนี้ ได้สร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพ ทั้งหนังสือนิทานภาพชุด “ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย” และกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ กิจกรรม “ภูมิคุ้มใจและจิตวิทยาการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์เปราะบาง” กิจกรรม “สานพลังการอ่านสร้างทักษะ Resilience kid” ที่จะทำให้พ่อ แม่ ครูผู้ดูแลและพัฒนาเด็ก รวมถึงบุคคลใกล้ชิด ได้นำไปปรับใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงปลุกพลังบวกของเด็ก ซึ่งจะจัดขึ้นตลอดปี 2565

สำหรับผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ “อ่านยกกำลังสุข” โทร.02-424-4616, 080-259-0909 หรือดาวน์โหลดนิทานเพื่อเด็กปฐมวัยฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ เว็บไซต์ www.happyreading.in.th

******************** 25 พฤศจิกายน 2564