“องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นปัตตานี” สุดชื่นใจ รัฐบาล จัดสรรงบฯ กว่า 20 ล้านบาทหลังกรมประมงเป็นพี่เลี้ยงผุดโครงการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง

​นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 25 กำหนดให้กรมประมงดำเนินการช่วยเหลือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ บำรุงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำ สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มและจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ให้กรมประมงส่งเสริมสนับสนุนในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและพี่น้องชาวประมงสามารถพึ่งพาตนเองได้เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนต่อไป

​ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมประมงมีการจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,535 องค์กร จำนวนสมาชิก 95,427 ราย ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564) โดยแบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่

1) ด้านประมงทะเลชายฝั่ง จำนวน 795 องค์กร สมาชิก 32,857 ราย

2) ด้านประมงทะเลนอกชายฝั่ง จำนวน 64 องค์กร สมาชิก 3,900 ราย

3) ด้านประมงน้ำจืด จำนวน 534 องค์กร สมาชิก 18,834 ราย

4) ด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 821 องค์กร สมาชิก 31,959 ราย

5) ด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ จำนวน 321 องค์กร สมาชิก 7,877 ราย

พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำและบริหารจัดการร่วมกัน รวมถึงการสร้างจิตสำนึกในความหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำพื้นถิ่นด้วย นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้พี่น้องชาวประมงรวมกลุ่มจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนประมงท้องถิ่นให้สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพและยกระดับการค้าการผลิตเพื่อสร้างวิถีประมงให้มีคุณภาพและเกิดความยั่งยืน โดยกรมประมงรับบทบาทเป็นพี่เลี้ยงที่สนับสนุนข้อมูล วิธีบริหารจัดการโครงการให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างเป็นระบบ ฯลฯ เพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินโครงการต่อไปสำเร็จตามวัตถุประสงค์

​โดยตัวอย่างล่าสุด สำนักงานประมงจังหวัดปัตตานี ได้เสนอ “โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก” ภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น โดยรัฐบาลได้อนุมัติให้องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นชายฝั่งจังหวัดปัตตานี จำนวน 32 องค์กร ดำเนินการ จำนวน 5 โครงการ ในวงเงินงบประมาณ 19,858,315 บาท ช่วยให้เกิดการจ้างงานชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนกว่า 960 คน สามารถเพิ่มความชุกชุมของทรัพยากรสัตว์น้ำ เกิดแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร สร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ เกิดเป็นระบบนิเวศเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารได้อย่างยั่งยืน อีกทั้ง ยังก่อให้เกิดอาชีพเสริม เกิดการจ้างงานชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนในชุมชนกว่า 960 คน เพื่อมาประกอบอวนทำเครื่องมือประมง ทำบ้านปลา ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีการนำเครื่องมือประมงที่ผลิตได้ มาจำหน่ายในราคาถูกให้สมาชิกด้วย โดยโครงการดังกล่าวมีดังนี้

​1. โครงการจัดสร้างแหล่งที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ : ซึ่งจะมีการดำเนินการในพื้นที่ทะเลอ่าวปัตตานี จำนวน 3 แห่ง คือ ตำบลบาราไหม ตำบลหยงลุโละ ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี รวมจำนวนพื้นที่ 130 ไร่ โดยจะมีการจัดสร้างแหล่งรักษาพันธุ์สัตว์น้ำในอ่าวปัตตานี มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปลาตะกรับ ปลากะพงขาว และพันธุ์หอยแครง นอกจากนี้ ยังจะมีการทำแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ จัดสร้างทำกระโจมปลาถึง 7,500 ชุด ทำให้เกิดการจ้างแรงงานประมงในชุมชน

​2. โครงการเสริมศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปของสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี : ดำเนินการในพื้นที่ หมู่ 5 ตำบลท่ากำซำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีการถ่ายทอดความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต พร้อมจำหน่ายเพื่อเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำจากแหล่งประมงของชุมชน

​3. โครงการสร้างเสริมแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนในเขตทะเลชายฝั่งของชุมชน : ดำเนินการในพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานี ยะหริ่ง ปะนาเระ และสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ถึง 30 องค์กร ทั้งเรื่องของการฝึกอบรม จัดทำแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ (กระโจมปลา 7,200 ชุด , ซั้งเชือก 4,400 ชุด) ทำให้เกิดการจ้างแรงงานประมงในชุมชน

​4. โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้าน : มีเป้าหมายดำเนินการ ณ ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน ตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีกิจกรรมโครงการต่างๆ อาทิ การพัฒนาอาชีพผลิตและประกอบอุปกรณ์เครื่องมือประมงพื้นบ้าน การส่งเสริมการแปรรูปสัตว์น้ำตามฤดูกาล การส่งเสริมอาชีพเยาวชนทำผลิตภัณฑ์จากเศษเปลือกหอยชนิดต่างๆ โดยการดำเนินการดังกล่าวนี้จะมีการถ่ายทอดความรู้ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และเกิดการจ้างแรงงานประมงในชุมชน

​5. โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้าน : มีการดำเนินโครงการที่ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน ณ บ้านตันหยงเปาว์ หมู่ 4 ตำบลท่ากำซำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีการจัดกิจกรรมอบรมถ่ายทอดความรู้ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือประมงอวนลอยกุ้ง และการจ้างแรงงานประมงในชุมชน

​ซึ่งโครงการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งมากขึ้นจนสามารถผลักดันโครงการฯ จนได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ทำให้สามารถช่วยให้เกิดการจ้างงานชาวประมงพื้นบ้านและประชาชน ควบคู่ไปกับการสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ที่เปิดโอกาสให้ดำเนินโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ โดยมุ่งเน้นโครงการของภาคประชาสังคม และในขณะนี้กรมประมงได้มีการนำแนวทางดังกล่าวขยายพื้นที่พัฒนาให้องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นไปจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อม และรับไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความมั่นคงของภาคประมงพื้นบ้าน…รองอธิบดีฯ กล่าว