สกสว. จับมือ สถาบันวิจัยพลังงาน เปิดเวทีเสวนายกระดับการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ไทย

“ สกสว.ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จัดเสวนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระดมผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ทิศทางและโอกาสการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ของไทย ”

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “โครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ทั้งจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.ปาษาณ กุลวานิช งานนวัตกรรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.), ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ กลุ่มโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, ผศ.ดร.วิทยากร อัศดรวิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที-เน็ต จำกัด และ ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ดร.จักรพงศ์ พงศ์ธไนศวรรย์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงหาแนวทางการพัฒนากลไกการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเทคโยโลยียานยนต์สมัยใหม่

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจสำคัญในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ เป็นแผนระยะ 5 ปี ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกจากนี้ สกสว. ยังมีบทบาทในการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีทิศทางสอดคล้องกับแผนด้าน ววน. ดังนั้นประเด็นสำคัญในแผนด้าน ววน. จึงเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดทิศทางการทำงานของระบบ ววน. อย่างไรก็ตาม สกสว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศ ซึ่งหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ดังนั้น สกสว. ตระหนักดีว่าการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับ พัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตลาดใหม่ที่ประเทศไทยมีโอกาสในการพัฒนา โดยที่ผ่านมา สกสว. ได้ร่วมกับหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ (SAT: Strategic Agenda Team) ด้านยานยนต์สมัยใหม่ จัดเวทีเสวนาเพื่อการจัดการความรู้ที่ผ่านมาในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แบตเตอรี่, ยานยนต์อัจฉริยะ, การพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงการเสวนาครั้งนี้ในเรื่องพื้นฐานและกฎระเบียบเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ทำให้เห็นถึงแนวโน้มและทิศทางของอุตสาหกรรมนี้ และทำให้ สกสว. สามารถขับเคลื่อนระบบ ววน. ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เกิดเป็นองค์ความรู้และความเข้าใจในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

ทางด้าน ดร.ปาษาณ กุลวานิช งานนวัตกรรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นำเสนอมุมมองจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ หรือ NQI (National Quality Infrastructure) โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านต่าง ๆ แบ่งการทำงานอย่างชัดเจน ทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม ปัจจุบัน กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ดำเนินการให้บริการในการตรวจสอบและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา วศ. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ในการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle: CAV) เพื่อรองรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ รวมถึงการนำเข้ายานยนต์จากต่างประเทศ ซึ่งจะมีการทดสอบองค์ประกอบต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพสมรรถนะยานยนต์ โดยปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนโครงการสร้างสนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งสามารถทดสอบระบบช่วยเหลือการขับขี่เพื่อรองรับการทดสอบยานยนต์ในอนาคต

ทางด้าน ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ กล่าวว่า การพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแล้วยังมีส่วนสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกับมิติทางด้านกฏหมาย อาจแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

1) คุณสมบัติและการใช้งานยานยนต์สมัยใหม่

2) การใช้งานยานยนต์อัตโนมัติ

3) ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

4) ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานยานยนต์อัตโนมัติ  ซึ่งที่ผ่านมามีการศึกษาในหลายประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังสามารถพัฒนาในด้านกฏระเบียบและกฏหมายเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในอนาคต

นอกจากนี้เวทีเสวนายังได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงโอกาสในการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านยานยนต์สมัยใหม่ในอนาคต