กรมการขนส่งทางราง ลงสำรวจจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกายภาพจุดตัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือมีอุบัติเหตุเคยเกิดขึ้นแล้วให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

กองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่สำรวจจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกายภาพของจุดตัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุ ให้มีความปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ ขร. ได้ลงสำรวจจุดตัด 50+995 ในพื้นที่บริเวณคลองแขวงกลั่น โดยจุดตัดดังกล่าวเคยเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถโดยสารสาธารณะ เมื่อเดือน ต.ค. 63 มีลักษณะเป็นทางลักผ่านติดตั้งอาณัติสัญญาณไฟกระพริบและเสียงเตือน แต่ไม่มีเครื่องกั้น และมีทางลาดชันบริเวณจุดตัดเป็นอุปสรรคต่อการขับขี่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ร่วมกับผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทราบว่า รฟท. ได้ยื่นของบประมาณติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติประเภท ข.1 จากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) แล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอ อบจ. ฉะเชิงเทราจัดส่งแบบแปลนการปรับปรุงทางลาดบริเวณจุดตัดและราคาค่าก่อสร้างให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนน เพื่อรวบรวมเสนอขออนุมัติงบประมาณจาก กปถ. กรมการขนส่งทางบกต่อไป โดย ขร. จะมีหนังสือถึง อบจ. ฉะเชิงเทรา เพื่อเร่งรัดการจัดส่งแบบแปลนและราคาค่าก่อสร้างสำหรับขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้การดำเนินการเป็นผลสำเร็จ

จากนั้น คณะได้เดินทางต่อไปสำรวจจุดตัดทางถนนและทางรถไฟอื่นบริเวณใกล้เคียงในจังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย

1.จุดตัดกิโลเมตรที่ 53+913 บริเวณดังกล่าว มีเพียงอาณัติสัญญาณไฟกระพริบ ไม่มีเครื่องกั้น โดย ขร. จะประสาน รฟท. เพื่อพิจารณาติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติบริเวณดังกล่าว

2.จุดตัดทางลักผ่าน 63+185 (63/3-4) ซึ่งก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการนำแผ่นคอนกรีตสำเร็จมาวางและเทยางมะตอยบริเวณติดกับราง เพื่อให้จักรยานยนต์ขับผ่าน เบื้องต้น ขร. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปิดจุดตัดดังกล่าวและให้ใช้จุดตัดที่มีเครื่องกั้นที่อยู่ใกล้กันแทน

3.จุดตัด 64+228 ซึ่งเคยเกิดอุบัติเหตุ จากการลงพื้นที่พบว่า บริเวณจุดตัดมีเครื่องกั้นอัตโนมัติ ข.1 แล้ว อย่างไรก็ตาม บริเวณจุดตัดมีลักษณะเป็นเนินลาดชัน และมีต้นหญ้าขึ้นสูง ทำให้เกิดมุมอับสายตา ผู้ขับขี่อาจไม่เห็นรถไฟที่กำลังแล่นผ่าน และอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้น ทั้งนี้ ขร. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงแก้ไขลักษณะทางกายภาพบริเวณจุดตัดทางรถไฟต่อไป

4.จุดตัด 75+360 ซึ่งเคยเกิดอุบัติเหตุ จากการลงพื้นที่พบว่าเป็นจุดตัดทางลักผ่าน เบื้องต้นจะเสนอให้ปรับปรุงถนนเลียบทางรถไฟให้อยู่ในสภาพดี และปิดจุดตัดดังกล่าวให้ประชาชนไปใช้จุดตัดใกล้เคียง 73+594 ซึ่งเป็นจุดตัดได้รับอนุญาตที่มีเครืองกั้นอัตโนมัติ (ข.1) ซึ่งอยู่ห่าง 2 กิโลเมตร ต่อไป

และจุดอื่นๆ เช่น จุดตัด 67+219 ได้มีการแก้ไขจาก ทางลักผ่านเป็น สะพานข้ามทางรถไฟ (overpass) และจุดตัด 69+186 เปลี่ยนจากป้ายจราจร เป็นสะพานข้ามทางรถไฟ (overpass)โดยไม่มีทางตัดผ่านเสมอระดับแล้ว

สำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงคมนาคม ในการปรับปรุงจุดตัดให้มีความปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟอย่างยั่งยืน

******************************