ผวจ.เลย ตรวจเยี่ยม ติดตามความก้าวหน้า “โคก หนอง นา พช.”

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.30 น. นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในการตรวจเยี่ยม ติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของนายสมพงษ์ อุไพพร หมู่ที่5 ตำบลนาดอกคำ และนายรัตนวรรณ์ บุราญศรี บ้านแก้วเมธี หมู่5 ตำบลนาด้วง อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย พร้อมด้วย นายคมสิทธิ์ สุริยวรรณ พัฒนาการจังหวัดเลย นางสาวเมตตา แสนอินอำนาจ ผอ.กลุ่มงานยุทธศาตร์การพัฒนาชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดเลย โดยการนี้ นายอำเภอนาด้วง พัฒนาการอำเภอนาด้วง นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ให้การต้อนรับ

นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ติดตาม ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าของการดำเนินงานแปลงครัวเรือนต้นแบบ อ.นาด้วง สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” อ.นาด้วง จ.เลย พร้อมได้ให้คำแนะนำการประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนเป้าหมายโดยให้มีการวางแผนการทำเกษตรกรรม ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ศึกษาเรียนรู้แนวทางการพัฒนาพื้นที่จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ใกล้เคียง และมอบนโยบายให้อำเภอบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้การติดตามตรวจเยี่ยมโครงการฯ ในครั้งนี้ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ตามคำแนะนำของ ผวจ.เลย จากการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนในการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยครัวเรือนต้นแบบเป้าหมายทั้ง 2 ครัวเรือน ได้ศึกษาเรียนรู้การดำเนินงานทางการพัฒนาพื้นที่ของแปลงนางสวย ต.นาด้วง อ.นาด้วง และนายสมบัติ พลทะยาน ต.เอราวัณ อ.เอราวัณ จ.เลย เป็นแปลงเกษตรกรตัวอย่างที่ดำเนินการประสบความสำเร็จตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม สร้างความมั่นคงทางอาหาร สามารถนำผลผลิตที่ได้ออกจำหน่ายสร้างรายได้ให้ครอบครัว ในส่วนราชการได้สนับสนุนองค์ความรู้ และปัจจัยการผลิต อาทิ เช่น เมล็ดพันธุ์ผัก พันธุ์พืช พันธุ์ปลา พันธุ์ไก่ ก้อนฟาง และปุยหมัก เป็นต้น เกิดการเปลี่ยนไปในทางที่ดีมากขึ้นกว่าครั้งก่อน โดย ผวจ.เลย ได้กล่าวว่า แปลงของ นายสมพงษ์ ครั้งก่อนเป็นแปลงที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากสภาพของที่ตั้งและสภาพของดินมีความแห้งแล้ง ระบบบริหารจัดการน้ำ ยังไม่ดีเท่าที่ควร น้ำในบ่อแห้ง ในครั้งนี้ได้ชื่นชมการบริหารจัดกาพื้นที่ เกิดการพัฒนา ดินสามารถเพาะปลูกพืชได้มีการนำระบบโซลาร์เซลล์ มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อย่างไรก็ตามต้องมีการปรับปรุงดินบำรุงดินด้วยการใช้มูล หญ้าแฝก และฟาง คลุมดินเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น และอยากให้แปลงนายสมพงษ์เป็นแปลงตัวอย่างให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านพื้นที่ ในการทำการเกษตร หรือผู้ที่เกิดความท้อแท้จากการทำการเกษตร ได้มาศึกษาเรียนรู้ การทำ โคก หนอง นา ด้วยตนเองเพียงลำพังของนายสมพงษ์ ได้เห็นถึงความเพียรและความมุ่งมั่นจากทำเกษตรที่เริ่มจากศูนย์ จนพัฒนาเป็นแปลงเกษตรที่สามารถเพาะปลูกได้เห็นผลอย่างชัดเจนเป็นการเดินตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง ทำให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พออยู่ พอกิน พึ่งพาตัวเอง เมื่อเหลือให้แบ่งปัน และนำไปสู่การจำหน่าย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

ในส่วนของแปลงนาย รัตนวรรณ์ ให้พัฒนาเป็นศูนย์สาธิตเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจ เนื่องจากเป็นแปลงที่มีความพร้อม มีศักยภาพสามารถต่อยอดความรู้ด้านต่างๆ ทางการเกษตรได้หลายด้าน แบ่งปันความรู้ให้ชุมชน สร้างแหล่งกองทุน สหกรณ์ ต่อยอดไปสู่วิสาหกิจชุมชน โดยให้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการสร้างพื้นที่สามไร่ ให้เป็นแหล่งทองคำ พร้อมแนะนำเพิ่มเติมในส่วนของการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการน้ำของพื้นที่ ติดตามการดำเนินงาน บันทึกผลการดำเนินงานก่อนและหลังการ เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หมั่นศึกษาดูงานจากตัวอย่างที่มีอยู่แล้วนำมาประยุกต์ใช้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีของตนเอง ส่วนของราชการให้เข้ามาเชื่อมโยง ให้การสนับสนุนให้ความรู้ เป็นกำลังสำคัญนำพาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้

สุดท้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้กล่าวถึงโครงการ”โคก หนอง นา โมเดล” ว่าเป็นการต่อยอดโครงการตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามทฤษฎีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ให้กับพสกนิกร นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นการปรับรูปแบบแปลงที่ดินให้กักเก็บน้ำไว้ทั้งบนดินและใต้ดิน ประกอบกับการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงในพื้นที่ทำการเกษตร ให้มีความอุดมสมบูรณ์ และเชื่อมโยงระบบนิเวศอย่างสมดุล เพื่อให้ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตัวเอง และนำแนวทางการดำเนินงานตามโครงการฯ ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ของชุมชนตลอดไป

*** การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด