เกษตรฯ จับมือ สจล. ทำ MOU ขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำบันทึกความเข้าใจเพื่อพัฒนางานเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ AI และ IoT Platform ด้านเกษตรอัจฉริยะ ขยายผลโครงการวิจัยทางด้านการเกษตรที่มีศักยภาพสู่การใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่การเกษตร

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร และสามารถนำมาปรับใช้พัฒนาอาชีพของตนเอง ผ่านโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยตรงของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการบูรณาการกับสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน และพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างยั่งยืน ในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ลงนามความร่วมมือกันในการพัฒนาทางวิชาการส่งเสริมการเกษตร วิชาการเกษตร และงานวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการดำเนินงานในการพัฒนาด้านการวิจัยและวิชาการร่วมกัน

สำหรับการดำเนินการร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน จะเป็นในลักษณะการสนับสนุนทรัพยากร บุคลากร และงบประมาณในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับนโยบายเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร และช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรในปัจจุบันที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และเกษตรกรมีอายุมากขึ้น ประกอบกับปัญหาการระบาดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายต่อผลผลิต ส่งผลทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ผลผลิตมีการปนเปื้อนของศัตรูพืช ทำให้มีผลกระทบกับการส่งออก และหากใช้สารเคมีในปริมาณมาก เพื่อควบคุมการระบาด ก็อาจทำให้มีต้นทุนสูง มีการตกค้างของสารเคมี กำจัดศัตรูพืช และอาจทำให้ประเทศคู่ค้ามีการกีดกันทางการค้า โดยทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางที่จะพัฒนาระบบการสำรวจติดตามข้อมูลการระบาดของศัตรูพืชที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรสามารถคาดการณ์การระบาดได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การจัดการป้องกันก่อนเกิดการระบาดและสามารถลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัจจุบันการสำรวจ ติดตามการระบาดศัตรูพืช จัดเก็บข้อมูลและรายงานผลการสำรวจแปลง จะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล เป็นประจำทุกสัปดาห์ ตลอดฤดูกาลผลิตพืช ร่วมกับเกษตรกรเจ้าของแปลงซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ทำหน้าที่สนับสนุนการสำรวจแปลงและจัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีการจดบันทึกลงบนกระดาษ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล ประกอบกับประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่และเกษตรกรที่อาจทำให้เกิดการวินิจฉัยชนิดศัตรูพืชผิดพลาดได้ หรือไม่ทราบชนิดของศัตรูพืชที่แท้จริงได้

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมกรเกษตรขับเคลื่อนการพัฒนาระบบพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืชสู่เกษตรอัจฉริยะ โดยร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการที่มีองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตร โดยร่วมพัฒนาระบบการสำรวจเก็บข้อมูลศัตรูพืชผ่านแอพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อให้ข้อมูลที่รายงานเป็นปัจจุบัน และสร้างคลังข้อมูลศัตรูพืชในการพัฒนาระบบ Artificial Intelligence (AI) หรือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ ในการวินิจฉัยชนิดศัตรูพืช ลดปัญหาการวินิจฉัยชนิดศัตรูพืชผิดพลาด พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดสภาพภูมิอากาศและการเก็บข้อมูลทุก ๔ ชั่วโมง ในแปลงต้นแบบเกษตรอัจฉริยะด้านการอารักขาพืช นำไปสู่การวิเคราะห์ชนิดศัตรูพืชที่พบและความสัมพันธ์กับสภาพภูมิอากาศ เพื่อการพัฒนาระบบพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืชที่แม่นยำต่อไป

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ จะมีการนำแอพลิเคชัน DOAE Pest Forecast ไปใช้ในการสำรวจติดตามการระบาดศัตรูพืชแทนการจดบันทึกแบบสำรวจในกระดาษ ในพืชเศรษฐกิจ ๘ ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง มะพร้าว พืชผัก ทุเรียน และมังคุด โดยจัดทำแบบ real-time เป็นประจำทุกสัปดาห์ ตลอดฤดูกาลผลิต และจะได้ขยายผลการใช้แอพพลิเคชั่น DOAE Pest Forecast ให้กับเกษตรกรในเครือข่าย หรือเกษตรกรที่สนใจ รวมถึงมีระบบการจัดเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมในแปลงเพื่อใช้วิเคราะห์ความสัมพันธ์กับการเกิดศัตรูพืชระบาด และเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ AI และ IoT Platform ด้านเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการศัตรูพืชในประเทศไทย

**********************