พช.นครพนม ติดตามและชื่นชมความสำเร็จของ “โคก หนอง นา นครพนม”

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.00 น.ภายใต้การอำนวยการของนายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มอบหมายให้ นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม และทีมงานสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอศรีสงคราม ลงพื้นที่ติดตามและชื่นชมความสำเร็จศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครัวเรือนต้นแบบราย นางราตรี เคนแสง บ้านเหล่า หมู่ที่ 4 ตำบลนาคำ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ในการนี้ นายธวัช พรมโสภา นายอำเภอศรีสงคราม มอบหมายให้นายนิมิตร ไชยรัตน์ ปลัดอาวุโส ร่วมติดตามฯ ในครั้งนี้

ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ครัวเรือนต้นแบบ นางราตรี เคนแสง บ้านเหล่า หมู่ที่ 4 ตำบลนาคำ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ได้รับงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่โคก หนอง นา โมเดล ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ โดยดำเนินการขุดปรับพื้นที่ตามแบบรายละเอียดงานปรับรูปแบบแปลงที่ดิน ตามแบบมาตรฐาน โคก หนอง นา โมเดล พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยดำเนินการในพื้นที่ 1 ไร่ สัดส่วนพื้นที่ 1 : 2 ชนิดดินทราย ลักษณะภูมิสังคมที่สำคัญคือ ได้รับผลกระทบน้ำท่วมที่นาจากปริมาณน้ำที่ไหลหลากเข้าท่วมที่นาในช่วงฤดูฝน การปรับงานขุดจึงมุ่งป้องกันปัญหาน้ำท่วมพื้นที่นา โดยหลังจากขุดปรับพื้นที่ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ฯ โดยดำเนินกิจกรรมตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ เช่น การห่มดิน การทำน้ำหมักจุลินทรีย์รสจืด การทำปุ๋ยหมักแห้ง การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ขุยไผ่ การขุดคลองไส้ไก่บริหารจัดการน้ำ คันนาทองคำ การ การปลูกป่า 5 ระดับ ช่วงแรกเน้นการปลูกกล้วยและตะไคร้ ซึ่งเป็นพืชโตวัย ให้ผลผลิตเร็ว มีการปลูกไผ่กิมซุง เพื่อปรับภูมิทัศน์ทางเข้าแปลงและเก็บผลผลิตในอนาคตอันใกล้ มีการเลี้ยงปลาโตวัยและเลี้ยงง่าย เช่น ปลาดุก ปลาหมอ ปลาตะเพียน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไข่เพื่อได้ผลผลิตไข่ไก่สดใหม่ทุกวัน และนำมูลไก่เป็นปุ๋ยให้กับพืช รวมทั้งเลี้ยงกระบือ เพื่อนำหญ้าในแปลงมาเป็นอาหาร และเอามูลมาทำปุ๋ย นอกจากสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยังก่อให้เกิดรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตจากศูนย์ฯ

กิจกรรมพัฒนาวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงระดับหมู่บ้าน มุ่งเน้นสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง และชุมชน อย่างมีทิศทางที่สอดคล้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศักยภาพและบริบทของชุมชน โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นโครงการตามแนวทางพระราชดำริที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ฐานราก คือ ชุมชน เกิดความร่วมมือร่วมใจ ภาครัฐและองค์กรภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อน ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดี บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน อันเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลบรรลุวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งจังหวัดนครพนม จะได้ส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงให้ครัวเรือนเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และขยายผลไปยังครัวเรือนอื่นในหมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป