ผู้ว่าฯจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมประชุมผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล (VCS) เพื่อขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมมหาธาตุ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม เพื่อขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ร่วมกับผู้บริหารส่วนกลาง ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) ณ ห้องประชุมดำรงธรรม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาขอบเขตการดำเนินงานและแนวทางการเลือกพื้นที่เป้าหมาย/พื้นที่ปฏิบัติการและกำหนดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและสภาพภูมิสังคม เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่

สืบเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงปี 2563-2564 ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ โดยเฉพาะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ GDP ของประเทศไทยติดลบถึง 6.2 % และมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดจากปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมและน้ำแล้ง ทำให้การลงทุนจากภาคเอกชนชะลอตัว หนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93 % ณ สิ้นปี 2564 โดยพบว่าคนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง 14.3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่มีรายได้น้อยและมีบุคคลที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง
ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีบทบาทในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนตามแนวทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based) จึงได้เสนอการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Suficiency Economy Development Zones : SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) โดยภาครัฐจะได้สนับสนุนการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน วัสดุอุปกรณ์พื้นฐาน อำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ที่จำเป็น ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ภาควิชาการในพื้นที่ร่วมพัฒนาและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ ต่อยอดด้วยงานวิจัยและวัตกรรมที่เหมาะสม โดยมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการบริหารงานโครงการ วางแผน พัฒนาและต่อยอดผลผลิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เกิดการกระจายสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยพิบัติซ้ำซาก และใช้โอกาสจากงานที่มีทักษะและศักยภาพที่ประสบกับปัญหาการเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับไปยังบ้านเกิด เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย ด้วยการให้ความรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ ควบคู่กับการศึกษาถึงรากเหง้าภูมิปัญญาดั้งเดิม และเพิ่มพูนด้วยชุดความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และภูมิสังคม เพื่อพัฒนาหรือยกระดับเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

ซึ่งเป้าหมายของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมดลเศรษฐกิจใหม่ สอดคล้องและรองรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ประเทศบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน

ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เว็ปไซต์ : https://ayutthaya.prd.go.th