ก.อุตฯ จับมือฟูจิฟิล์มส่งต่อ ATK 5,000 ชุด ให้ 5 โรงพยาบาล เผยโรงงานทำ Bubble and Seal ทะลุ 1,500 แห่ง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการรับมอบชุดตรวจการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) แบบสำหรับใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ (Professional Use) จากบริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 5,000 ชุดมูลค่ากว่า 2,450,000 บาท (สองล้านสี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) และส่งมอบต่อให้แก่โรงพยาบาล จำนวน 5 แห่ง แห่งละ 1,000 ชุด ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลสงฆ์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อนำไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

“กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขอขอบคุณภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนชุดตรวจ ATK กว่า 5,000 ชุด เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ได้ร่วมกันช่วยเหลือดูแลบุคลากรทางการแพทย์อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งการตรวจคัดกรองด้วยชุด ATK ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาและแยกผู้ติดเชื้อตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) เป็นการตรวจที่สามารถทราบผลได้ทันทีจะช่วยแยกผู้ป่วยออกจากผู้ไม่ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลดการกระจายเชื้อในพื้นที่นั้น ๆได้ดียิ่งขึ้น” นายกอบชัย กล่าว

ในส่วนของความคืบหน้าของการจัดทำมาตรการ Bubble and Seal เพื่อการควบคุม COVID-19ที่จะทำให้สถานประกอบกิจการไม่ต้องปิดโรงงานแม้พบผู้ติดเชื้อ อาจจะมีความยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง แต่คนงานปลอดภัย รายได้ไม่สูญเสีย และทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ในปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนมาตรการ Bubble and Seal ประกอบด้วย

(1) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปยังโรงงานทุกแห่ง และผลักดันให้เข้าประเมินตนเองตามมาตรการสาธารณสุขที่ทำอยู่ผ่านแฟลตฟอร์ม Thai Stop COVID+

(2) การให้การสนับสนุนโรงงานในการจัดทำ Bubble and Seal ทั้งในรูปแบบการอบรม Online และการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก Onsite รวมจำนวน 3,536 แห่ง ล่าสุดได้รับรายงานว่า มีโรงงานทั่วประเทศจัดทำมาตรการ Bubble and Seal จำนวนทั้งสิ้น 1,545 แห่งถือว่าเกินเป้าหมายของระยะแรกที่กำหนดไว้ 1,300 แห่งโดยปัจจุบันทางภาครัฐก็ได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้ภาคเอกชนสามารลดค่าใช้จ่ายลง และมีความเหมาะสมกับสถานการณ์และสถานประกอบการทุกขนาด คือแบ่งเป็น

1. กรณีไม่พบการติดเชื้อจัดทำ Bubble and Seal เพื่อการป้องกัน มีการจัดกลุ่มพนักงานเป็นกลุ่มย่อย (Small Bubble) แต่ละกลุ่มทำงานหรือกิจกรรมโดยไม่ข้ามกลุ่ม (Bubble) เพื่อคุมได้ไวและลดการแพร่กระจาย รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมให้ง่ายต่อการควบคุมโรค

2. กรณีมีการติดเชื้อ จัดทำ Bubble and Seal เพื่อการควบคุม สามารถทำได้ทั้งแบบมีที่พักและไม่มีที่พัก มีการประสานเตียงผู้ป่วยรองรับ โดยภาครัฐมีความพร้อมให้การสนับสนุนในทุกด้าน เช่น การฉีดวัคซีน การจัดหาชุด ATK การจัดทีมพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาในการดำเนินตามมาตรการ Bubble and Seal และการจัดทีมเพื่อตรวจประเมินสถานประกอบให้ปฏิบัติตามมาตรการโดยครอบคลุมทุกจังหวัด
—————————————-