สศท.11 ลงพื้นที่ศรีสะเกษเกาะติดสถานการณ์หอมแดง เตรียมออกตลาดปลาย พ.ย.นี้ แนะเกษตรกรรักษาคุณภาพ ระวังโรคหอมเลื้อย

นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ของ สศท.11 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษ แหล่งผลิตอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปีเพาะปลูก 2564/65 (ข้อมูล ณ 10 พฤศจิกายน 2564) คาดว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 26,940 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 24,394 ไร่ (เพิ่มขึ้น 2,546 ไร่ หรือร้อยละ 10.44) เนื่องจากปีที่ผ่านมาราคาหอมแดงอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น และเป็นพืชที่สร้างรายได้และให้ผลตอบแทนสูงแก่เกษตรกร ผลผลิตรวม 77,878 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 86,344 ตัน (ลดลง 8,466 ตัน หรือร้อยละ 9.80) ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,475 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 3,554 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลง 79 กิโลกรัม/ไร่ หรือร้อยละ 2.22) ทั้งนี้ ผลผลิตรวมและผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่ ส่งผลให้ฝนตกชุก หอมแดงจึงเน่าเสียหาย และบางส่วนชะงักการเจริญเติบโต ต้นแคระแกรน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ขณะนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำที่เอ่อทะลักล้นตลิ่งบริเวณ ลำน้ำมูล และลำน้ำชี รวมถึงลำห้วยสาขาต่าง ๆ ส่งผลให้มวลน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ปลูกหอมแดงถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะตำบลคอนกาม ตำบลลิ้นฟ้า ตำบลกุดเมืองฮาม อำเภอยางชุมน้อย ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้น (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ณ 9 พฤศจิกายน 2564) พบว่า พื้นที่ปลูกหอมแดง ทั้ง 3 ตำบล ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม – 9 พฤศจิกายน 2564 รวมพื้นที่ความเสียหาย 2,048 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.6 ของพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด มูลค่าความเสียหายประมาณ 92 ล้านบาท ได้รับผลกระทบ จำนวน 861 ครัวเรือน ทั้งนี้ ภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ด้านการเกษตร ที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติ เกษตรกรจะได้รับเงินเยียวยา จำนวน 1,980 บาท/ไร่ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอขอเงินชดเชย กรณีเกิดภัยพิบัติ คาดว่าเกษตรกรจะได้รับเงินเยียวยาภายใน 60 วัน นอกกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน ยังได้ช่วยรับซื้อหอมต้นที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวก่อนเน่าเสียหาย ในราคา 20 บาท/กิโลกรัม (แบบคละ) เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับปีเพาะปลูก 2564/65 เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงบางส่วนในพื้นที่ปลูกข้าวหรือปลูกหลังฤดูทำนาจะเพาะปลูกล่าช้ากว่าปีปกติ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่ โดยเฉพาะพื้นที่ในอำเภอราษีไศลและอำเภอยางชุมน้อย และบางพื้นที่น้ำยังท่วมขังยังไม่สามารถเริ่มการเพาะปลูกได้ ส่งผลให้หัวพันธุ์หอมแดงที่เกษตรกรเตรียมไว้ปลูกฝ่อ ในขณะที่เกษตรกรพื้นที่อื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว เช่น อำเภอเมือง อำเภอกันทรารมย์ สามารถปลูกได้ตามปกติ โดยคาดว่าผลผลิตจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 คิดเป็นร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมด และผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงปลายเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 ประมาณ 54,514 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด

ในส่วนของราคาหอมแดงที่เกษตรกรขายได้ ภาพรวมมีการปรับตัวลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตส่งผลให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในระยะแรกเป็นหอมแดงไม่ได้มาตรฐาน หัวเล็ก สีไม่สด โดยราคาเฉลี่ยวันที่ 1 – 17 พฤศจิกายน 2564 หอมแดงสดแก่ (คละ) ราคา 21 บาท/กิโลกรัม ลดลงจากปีที่แล้วที่มีราคาอยู่ที่ 30 บาท/กิโลกรัม หอมปึ่ง ซึ่งเป็นหอมแดงที่เก็บเกี่ยวและแขวนตากในโรงเก็บเป็นเวลาประมาณ 14 วัน ราคา 43 บาท/กิโลกรัม ลดลงจากปีที่แล้ว ที่มีราคาอยู่ที่ 55 บาท/กิโลกรัม และหอมมัดจุกใหญ่ เฉลี่ย 55 บาท/กิโลกรัม ลดลงจากปีที่แล้วที่มีราคาอยู่ที่ 80 บาท/กิโลกรัม

ด้านสถานการณ์ตลาดหอมแดง ผลผลิตเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 98) เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น พ่อค้า รายใหญ่ในจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ ร้านสิทธิกรณ์ดีพืชผลเป็นผู้รวบรวมและส่งหอมแดงรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะรับซื้อหอมแดงเพื่อส่งขายลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ส่วนผลผลิตที่เหลือจำหน่ายให้กับพ่อค้าต่างจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ นครราชสีมา รวมถึงพ่อค้ารายย่อยในพื้นที่

ผู้อำนวยการ สศท.11 กล่าวเพิ่มเติมว่า หอมแดงศรีสะเกษ เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญหา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 โดยจังหวัดศรีสะเกษ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกหอมแดงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน การแปรรูปเป็นชาหอมแดงซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ รวมถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ได้รวมกันสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป และช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมเชื้อสาเหตุโรคคอบิดหรือโรคหอมเลื้อยที่สามารถพบได้ในระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น และในสภาพอากาศร้อนจัด ความชื้นในอากาศน้อย ทำให้เกิดเป็นแผล บริเวณใบ กาบใบ คอหรือส่วนหัว โรคนี้ทำให้ใบเน่าเสียหาย ต้นหอมแคระแกรน ใบบิดโค้งงอ หัวลีบยาว ส่งผลให้ต้นหอม เน่าเสียหาย   เก็บเกี่ยวไม่ได้ หรือไปเน่าเสียในช่วงเก็บรักษา ซึ่งหากเกษตรกรพบต้นที่เป็นโรคให้ถอนนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที สำหรับเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตหอมแดงของจังหวัดศรีสะเกษ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.11   จังหวัดอุบลราชธานี โทร 045 344 654 หรืออีเมล zone11@oae.go.th