นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อนาคต โครงข่ายคมนาคม ของประเทศไทย” ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2564

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อนาคต โครงข่ายคมนาคมของประเทศไทย” วิศวกรรมแห่งชาติ 2564 (National Engineering 2021) Engineering for Society: Smart Engineering and Innovation for Society ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาชีพ วิชาการสู่วิศวกร ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ใช้งาน และประชาชนทั่วไป รวมถึงการส่งเสริมวิชาชีพ วิชาการ ทั้งในระดับอุตสาหกรรมและบุคคล เพื่อเป็นสร้างการรับรู้และความเข้าใจในบทบาทวิศวกรที่สร้างคุณูปการต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมที่ทันสมัย เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของประชาชน รวมถึงการตระหนักรู้ถึงความปลอดภัยสาธารณะ โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นเวทีกิจกรรมให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจเทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า อนาคตโครงข่ายคมนาคมของประเทศไทย จะเป็นการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านทุกรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากต้นทางไปสู่ปลายทาง ตามภารกิจหลักของกระทรวงคมนาคม ด้วย “ความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล” รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานที่ขนส่งมวลชน โดยกระทรวงคมนาคมได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การบริหารงานของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพทั้งในเมือง (Urban Transport) และระหว่างเมือง (Intercity Transport) โดยต้องเป็นระบบที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัล 5G มาใช้ในภาคคมนาคมขนส่ง เพื่อยกระดับระบบการให้บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์มาสู่การปฏิบัติ โดยมอบให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยทั้ง 4 มิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยมีโครงการสำคัญ ดังนี้

แผนพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Urban Mass Transit) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (Transit-Oriented Development: TOD) รวมถึงโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมและโลจิสติกส์ภายในประเทศไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ แผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (Land Bridge) ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยลดอุบัติเหตุให้กับผู้ใช้ทางอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป