‘พาณิชย์’ ปลื้มฟิลิปปินส์พร้อมจับมือยกระดับการค้าการลงทุน หนุนนักธุรกิจไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานฟิลิปปินส์

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561  เอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย (นางแมรี โจ เอ. แบร์นาร์โด-อารากน) ได้เข้าเยี่ยมคารวะ และหารือเรื่องการเพิ่มมูลค่าการค้าและการขยายการลงทุนระหว่างสองประเทศ รวมทั้ง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ระหว่างกันในเรื่องการฝึกอบรมพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นต้น

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์พร้อมร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ในการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อหาแนวทางเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการตามผลการหารือด้านการค้า การลงทุนระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายโรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในคราวประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เดินทางเยือนไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2560 โดยเฉพาะความร่วมมือภาคเอกชน และการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 1 ที่ฝ่ายฟิลิปปินส์แสดงความพร้อมเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นเวทีหารือการพิจารณาขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ขอให้ไทยสนับสนุนให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รางรถไฟ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ตามนโยบาย Build Build Build ของประธานาธิบดีดูแตร์เต รวมทั้ง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในเรื่องการฝึกอบรมพัฒนา MSMEs e-Commerce และเรื่องอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทยในโลก และอันดับที่ 5 ของไทยในกลุ่มอาเซียน รองจากมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) การค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ มีมูลค่าเฉลี่ย 8,756 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.4 ต่อปี และในปี 2560 มีมูลค่าการค้า 10,183 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 11.8 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 3,710 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญไปฟิลิปปินส์ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และน้ำมันดิบ