“อธิรัฐ ส่งเสริมท่องเที่ยว ปรับปรุงท่าเรือเกาะสุกร ปะเหลียน – ขุดลอกร่องนำ้กันตัง เชื่อมขนส่งสินค้า 3 ประเทศ IMT-GT เมืองตรัง”

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดตรัง ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจติดตาม 2 งานสำคัญสอดรับนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย (IMT-GT)

โครงการแรกคือการปรับปรุงท่าเรือเกาะสุกร เพื่อการท่องเที่ยว ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 4 ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน ท่าเรือเกาะสุกรเปิดใช้เมื่อปี 2537 บริหารท่าเทียบเรือโดย อบต.เกาะสุกร ท่าเรือฯ มีลักษณะยื่นไปในทะเล 200 ม. รับน้ำหนักรถยนต์บรรทุก 4 ล้อ ไม่เกิน 4 ตัน รับแรงท่าเรือโดยสารไม่เกิน 30 ตันกรอสได้ เป็นท่าเรือสาธารณะหลักรองรับสินค้า ผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยว จากฝั่งมายังเกาะสุกร ปัจจุบัน ทรุดโทรม แออัดคับแคบมากใช้งานไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย จึงได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าดำเนินการ ดังนี้

(1) ให้สำรวจออกแบบปรับปรุงท่าเรือเกาะสุกรให้เป็นไปตามหลักวิชาการ สวยงาม ใช้งานตามวัตถุประสงค์ และสอดคล้องความต้องการของประชาชน

(2) ให้พิจารณาขอรับงบประมาณก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือเกาะสุกรในปีงบประมาณ 2566

(3) เร่งรัดก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสำคัญ

(4) พัฒนาท่าเรือต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง ให้เชื่อมโยงได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เข้าถึงได้ง่ายให้บริการประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

สำหรับโครงการที่ 2 คือการขุดลอก-บำรุงรักษาชายฝั่งทะเล ร่องน้ำกันตัง ต.กันตัง อ.กันตัง ซึ่งแม่น้ำตรังเป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำเชื่อมโยงหลายจังหวัดเป็นศูนย์กลางการค้าฝั่งทะเลตะวันตกและภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ส่งออกสินค้าจากท่าเรือที่สำคัญไปยังต่างประเทศ ภายใต้โครงการ IMT-GT (ความร่วมมือระหว่างเศรษฐกิจ 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) เช่น ท่าเรือกันตัง ท่าเรือนาเกลือ ท่าเรือแสงทอง ท่าเรือยุโสบ ท่าเรือโชคชัย ร่องน้ำกันตังอยู่ปากแม่น้ำตรังเข้าสู่แม่น้ำด้านใน รวม 30.85 กิโลเมตร ลึก 4 เมตร จำเป็นต้องขุดลอกบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องทุกปี พื้นท้องน้ำบางช่วงมีหินทรายแข็งเป็นอุปสรรคการเดินเรือขนาดใหญ่ และได้มีข้อสั่งการให้กรมเจ้าท่าเร่งดำเนินการ

(1) ผลักดันให้ตรังเป็นศูนย์กลางส่งออกสินค้าทางเรือ เชื่อมโยงการส่งออกสินค้าทางเรือตามโครงการ IMT-GT

(2) ควรสนับสนุนงบประมาณ เพื่อขุดลอกร่องน้ำกันตังโดยเร่งด่วน

(3) ในบริเวณที่ทิ้งวัสดุขุดลอกให้เจ้าท่า พิจารณาติดตั้งม่านดักตะกอน เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายตะกอนด้วย

ทั้งนี้ผลการประชุมฯ ดังกล่าวนำเข้า ครม. เพื่อขับเคลื่อนและก่อให้เกิดประโยชน์หลายฝ่าย ทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการเดินเรือ ประมงท้องถิ่น ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่