รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจความพร้อมเปิดท่าเรือปากเมง ย้ำ ! เร่งพัฒนาโครงการขุดลอก และท่าเรือในพื้นที่เพื่อความยั่งยืน

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจความพร้อม พิธีเปิด “ท่าเรือปากเมง เปิดประตูสู่อันดามัน” โดยมีนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่าด้านวิชาการ และนายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปฏิบัติการ พร้อมด้วยนายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม นางวิมลมาน สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาตรัง นายจรัญ ดำเนินผล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 ให้การต้อนรับ

จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานฯ ในการประชุมสนันสนุนงบประมาณการขุดลอกร่องน้ำกันตัง อำเภอกันตัง และท่าเรือเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง โดยมีนายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายจุฬา สุขมานพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ผู้แทนผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ชาวบ้านเกาะสุกร เกาะลิบง เข้าร่วมประชุมฯ หารือแนวทางในการพัฒนาท่าเรือและร่องน้ำอื่น ๆ

โดยร่องน้ำกันตัง เป็นหนึ่งในร่องน้ำเศรษฐกิจ ซึ่งมีความยาว 30.850 กิโลเมตร และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของภาคการขนส่งทางน้ำของจังหวัดตรัง จากท่าเรือเทศบาลกันตังและท่าเรือนาเกลือ สู่ท่าเรือต่างประเทศ เป็นร่องน้ำที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำตรัง มีความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 4–6 เมตร ลักษณะของร่องน้ำเป็นโคลน – ทราย และมีอัตราการตกตะกอนที่สูง จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้สามารถใช้งานร่องน้ำได้สะดวกและปลอดภัย ตลอดเวลา โดยในปีงบประมาณ 2563 ได้ดำเนินการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง มีความกว้าง 60 เมตร ลึก 3.50-5 เมตร (จากระดับน้ำลงต่ำสุด) ตามเกณฑ์ที่ออกแบบไว้ โดยจะมีเรือสินค้าและเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้ร่องน้ำ ได้แก่ เรือซีเมนต์ เรือบรรทุกวัสดุก่อสร้าง ตู้คอนเทนเนอร์ เรือบรรทุกปุ๋ย เรือประมงขนาดใหญ่ สินค้าทั่วไป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และข้าว

การดำเนินการ กรมเจ้าท่าขอรับการจัดสรรงบกลางปี 2565 ดำเนินการในระยะเร่งด่วนเนื้อดินจำนวน 1,350,000 ลูกบาศก์เมตร และหิน จำนวน 50,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 162,400,000 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาความตื้นเขินและบำรุงรักษาร่องน้ำให้กลับสู่สภาพปกติ เพิ่มขีดความสามารถในการเดินเรือ อันจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง และพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งเชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกและการคมนาคมขนส่งด้านต่างๆ ของร่องน้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ เชื่อมโยงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

สำหรับโครงการที่พื้นที่มีความต้องการให้ก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อสนับสนุนการเดินทางและการท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยง ไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในอำเภอปะเหลียน ได้แก่ท่าเรือเกาะสุกร หรือเกาะหมู อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เนื่องจากปัจจุบันมีความชำรุดทรุดโทรม มีการใช้งานมากกว่า 30 ปีขนาดพื้นที่ไม่เพียงพอกับการใช้งานในปัจจุบัน จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขโดยกรมเจ้าท่ามีการดำเนินการของบประมาณในปี 2566 จำนวน 10 ล้านบาท และงบผูกพันปี 2567 จำนวน 40 ล้านบาท เพื่อพัฒนาปรับปรุงท่าเรือรองรับการใช้งาน ให้มีความสะดวกปลอดภัย เพียงพอต่อการใช้งาน สามารถเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยขยายท่าเรือให้มีขนาดหน้าท่า 20×50 เมตร และปรับปรุงสะพานเชื่อมฝั่งความยาวประมาณ 200 เมตร

 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำให้กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอกให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้เรือสามารถใช้ร่องน้ำสัญจรเข้า – ออก ได้ตลอดเวลา มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการประมง เนื่องจากสินค้ามีความสดใหม่ ส่งได้ทันเวลา และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางด้านธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว พัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป
———————————————