สถาบันการบินพลเรือนจัดโครงการสัมมนาอาจารย์แนะแนวรับสมัครนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2565 เปิดตัวหลักสูตรใหม่ตอบสนองนโยบาย Lifelong Learning ของรัฐบาล

สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดโครงการสัมมนาอาจารย์แนะแนว เพื่อแนะนำแนวทางการศึกษาต่อในหลักสูตรต่าง ๆ ของ สบพ. ให้แก่อาจารย์ระดับมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมี นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน เป็นประธานเปิดการสัมมนา และมีอาจารย์แนะแนว อาจารย์ที่ปรึกษา จากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมสัมมนา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom Meeting และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live @catcthailand

การจัดสัมมนาอาจารย์แนะแนวในระดับมัธยมศึกษา เป็นกิจกรรมที่ สบพ. จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์ที่เข้าร่วมการสัมมนาได้รับความรู้ ความเข้าใจ บทบาท หน้าที่ และภารกิจของ สบพ. และนำข้อมูลไปประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่สนใจศึกษาต่อทางด้านการบินได้รับทราบถึงทิศทางและแนวโน้มการปรับตัวของอุตสาหกรรมการบินที่ยังมีความต้องการบุคลากรการบินอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายรัชตะ จันทร์พาณิชย์ ตำแหน่ง ครูวิชาภาคพื้น กองวิชาบริหารการบิน นายณัฏฐาวุฑฒิ์ จิรธัมมวัฒน์ ตำแหน่ง ครูวิชาภาคพื้น กองวิชาบริการการจราจรทางอากาศ นายอนุพันธ์ พันธุ์เกษม ตำแหน่ง ครูวิชาภาคพื้น กองวิชาวิศวกรรมการบิน นายญาณวุฒิ คัมภีรภาพ ตำแหน่ง ครูวิชาภาคพื้น กองวิชาช่างอากาศยาน และนายบดินทร์ ยืนชนม์ ตำแหน่ง ครูวิชาภาคพื้น กองวิชาบริการการจราจรทางอากาศ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในปีนี้ สบพ.ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ในหลายหลักสูตร ประกอบด้วยหลักสูตรต่าง ๆ ดังนี้

1. ระดับปริญญาโท หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (2 ปี)

– สาขาวิชาการจัดการการบิน

2. ระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการการบิน (4 ปี) ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ปรับปรุงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2565 ให้ตรงตามความต้องการของตลาดในอุตสาหกรรมการบิน จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพด้านการบินที่หลากหลาย ใน 6 วิชาโท ได้แก่

– วิชาโทการจราจรทางอากาศ

– วิชาโทการท่าอากาศยาน

– วิชาโทการขนส่งสินค้าทางอากาศ

– วิชาโทโลจิสติกส์การบิน

– วิชาโทธุรกิจสายการบิน

– วิชาโทการบำรุงรักษาอากาศยาน

3. ระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์การบิน (4 ปี) ประกอบด้วย 2 วิชาเอก ได้แก่

– แผนการศึกษาแบบเอก วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์การบิน

– แผนการศึกษาแบบเอกโท วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์การบิน-โทนักบินพาณิชย์

4. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาวิชาเตรียมวิศวกรรมการบิน

5. หลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิชาเทคโนโลยีอากาศยาน

– วิชาเอกอิเล็กทรอนิกส์การบิน ภาคปกติ

6. หลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน

– สาขาวิชาช่างเครื่องบิน วิชาเอกเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์

– สาขาวิชาช่างเอวิโอนิกส์

โดยมีรายละเอียดการรับสมัคร ดังนี้

หลักสูตรวิชาภาคพื้นระดับปริญญาโท

รอบรับตรง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 29 เมษายน 2565

หลักสูตรวิชาภาคพื้นระดับปริญญาตรีและระดับอนุปริญญา

1. รอบ Early Recruitment (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 19 พฤศจิกายน 2564)

2. รอบแฟ้มสะสมผลงาน Portfolio (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 13 ธันวาคม 2564)

3. รอบโควตา Quota (ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 – 25 กุมภาพันธ์ 2565)

4. รอบรับตรง (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 29 เมษายน 2565)

หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ

1. รอบโควตา Quota (เตรียมวิศวฯ) ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม – 25 พฤศจิกายน 2564

2. รอบรับตรง (เตรียมวิศวฯ) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 – 3 มีนาคม 2565

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครและติดตามรายละเอียด ผ่านทางระบบ INTERNET ที่เว็บไซต์ www.catc.or.th และ Facebook: catcthailand หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2272 5741-4 ต่อ 3620, 2221, 2211

นอกจากนี้ยังได้แนะนำหลักสูตรภาษาอังกฤษการบิน หลักสูตรภาคอากาศ โครงการห้องเรียนพิเศษอุตสาหกรรมการบิน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการสานฝันการบิน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เยาวชน รวมถึงบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจในด้านอุตสาหกรรมการบิน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนและผู้ที่สนใจศึกษาต่อและประกอบอาชีพด้านการบินอีกด้วย