นับถอยหลัง 30 วัน กับ Side Event 18 เวทีใหญ่ทั่วประเทศก่อนเปิดฉาก สมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14

นับถอยหลังอีกเพียง 30 วัน วาระสำคัญแห่งปีของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมก็จะเปิดฉากขึ้น นั่นคืองาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค. 2564 ณ หอประชุมใหญ่ สำนักงาน TOT ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำหรับงานสมัชชาสุขภาพฯ ในปีนี้ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) หรือบอร์ดสุขภาพของประเทศไทย ได้สืบเนื่องประเด็นหลัก (ธีม) “พลังพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤตสุขภาพ” ต่อจากปีก่อน เพื่อให้การพัฒนานโยบายสาธารณะฯ เป็นเอกภาพ และลงลึกในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับประเด็นการหารือ หรือ “ระเบียบวาระ” ที่เข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาฯ ครั้งที่ 14 ยังคงมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาอันเป็นผลพวงมาจากวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยร่อนตะแกรงออกมาเป็น 3 ระเบียบวาระหลัก ประกอบด้วย

1. การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 ที่มุ่งให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการจัดการปัญหาขยะ การจัดการสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG การจัดการสิ่งแวดล้อมในเมือง ตลอดจนเพิ่มพื้นที่สีเขียว ฯลฯ

2. การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม มุ่งทำให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเฉพาะ หรือกลุ่มเปราะบางที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการ

3. การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ มุ่งให้ในภาวะที่เกิดวิกฤตทางสุขภาพ จะมีแผนการจัดการด้านข้อมูลข่าวสารที่เป็นระบบ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และความเชื่อมั่นให้ประชาชนทุกกลุ่ม สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง

ในฐานะผู้นำขององค์การสานพลัง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ระเบียบวาระทั้ง 3 ระเบียบวาระ ได้ผ่านกระบวนการพัฒนามาต่อเนื่องตลอดทั้งปี ผ่านการประชุมพิจารณาและให้ความเห็นชอบจากสมาชิกสมัชชาฯ และหน่วยงานภาคีต่างๆ ไปแล้ว 2 รอบ จึงมีความพร้อมที่จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการรับรอง และให้ฉันทมติอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ หาก 3 ระเบียบวาระนี้ได้รับฉันทมติ ก็จะเดินหน้าเข้าสู่การรับรองมติโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบ และแปรไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป

“งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงานครั้งก่อน โดยปีนี้ได้มุ่งขยายการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งประชาชนผู้ที่สนใจ กลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนเปราะบาง เครือข่ายผู้ป่วย นักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ ตลอดจนภาคเอกชน ที่ได้เข้ามาร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่กลางแห่งนี้ร่วมกัน” นพ.ประทีป ระบุ

อย่างไรก็ตาม งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่เพียงกิจกรรมเดียวหรือไฮไลท์เดียวของกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะฯ เพราะนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทุกพื้นที่ทั่วประเทศจะมีการจัดงาน “กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้” หรือ Side Event ในบรรยากาศ “สัปดาห์สมัชชาสุขภาพฯ” ด้วย เริ่มตั้งแต่พื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีความซับซ้อนสูง ก็ได้มีกำหนดเตรียมจัด สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564 ขึ้นในวันที่ 25 พ.ย. 2564 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ในธีม “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ร่วมสร้างมหานครสุขภาวะ วิถีใหม่”

สำหรับ สมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ จะมีระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 2 ระเบียบวาระ ได้แก่

1. การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน มุ่งให้เกิดการจัดการพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วม ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้ กทม. เป็นเมืองแห่งสุขภาวะเพื่อทุกคน

2. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ มุ่งให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้ประชาชนทุกกลุ่มที่มีความหลากหลายใน กทม. สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ

ขณะที่พื้นที่อื่นๆ ทุกภูมิภาคก็จะมีการจัด Side Event อันเป็นเวทีของการพูดคุยในประเด็นที่สืบเนื่องจากงานสมัชชาฯ หรือการดำเนินงานด้านสุขภาพและสุขภาวะในแต่ละมิติ โดยปี 2564 นี้ จะมีการจัดรวมกว่า 18 เวที ตั้งแต่ช่วงวันที่ 17 พ.ย. ไปจนถึงวันที่ 10 ธ.ค. 2564 โดยการขับเคลื่อนของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) 13 เขตทั่วประเทศ
พร้อมกันนี้ ยังจะมีการถ่ายทอดประเด็นต่างๆ ทั้งพื้นที่เกษตรปลอดภัย ความมั่นคงทางอาหาร การดูแลกลุ่มประชากรเฉพาะ การจัดการสิ่งแวดล้อม การใช้ธรรมนูญสุขภาพ ตลอดจนการสานพลังรับมือกับโควิด-19 ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ยังจะมีการพูดคุยถึงการดำเนินงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ผ่านฉันทมติและนำไปสู่การปฏิบัติมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น มติ “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” มติ “การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง” มติ “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” มติ “วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” และมติล่าสุด “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่”

นพ.ประทีป อธิบายว่า กิจกรรมทั้งหมดตลอด 1 เดือนนี้ จะเป็นภาพของการนำประสบการณ์ ความรู้จากการปฏิบัติ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสมานฉันท์พร้อมกันทั่วประเทศ เป็นการสานพลังสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ เพื่อปูทางก่อนที่เราจะมารวมตัวกันเป็นสักขีพยานอีกครั้งกับการกำหนดทิศทางด้านสุขภาพและสุขภาวะประเทศไทย ในวาระใหญ่ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ที่จะถึงนี้ “งานสมัชชาสุขภาพฯ ปีนี้ จะจัดในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid Assembly) ด้วยการประชุมทางไกล (Online) และการจัดงานในสถานที่ (On-site) จึงขอเชิญภาคีหน่วยงานและประชาชนทุกคนมาร่วมติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจทั้งหมดนี้ได้ ผ่านทุกช่องทางของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุ

////////////////////////////////////////