ดร.เฉลิมชัย ขับเคลื่อนโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดพังงา ทั้งโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One/Stop Service) และโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้พัฒนาศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่มีศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจในการจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพ และผสมปุ๋ยจำหน่ายให้เกษตรกรสมาชิก เกษตรกรแปลงใหญ่ และผู้สนใจทั่วไปในชุมชน ซึ่งสามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจ และเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

สำหรับโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เป็นการเพิ่มศักยภาพของระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีการนำหลักวิชาการเกษตรสมัยใหม่มาปรับใช้ร่วมกับทำการเชื่อมโยงตลาดสินค้า ตามนโยบายตลาดนำการผลิต ซึ่งได้ก่อให้เกิดความร่วมมือในการผลิต โดยเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกรในพื้นที่ที่มีการทำกิจกรรมด้านการเกษตรที่ใกล้เคียงกัน หรือมีพื้นที่ติดต่อกัน ซึ่งเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน เน้นผลักดันให้มีการรวมกลุ่มในการผลิต เพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูกและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร (Motor Pool) เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนการจัดการร่วมกันด้านการตลาด ช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามศักยภาพสู่การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรตามความต้องการตลาด ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน และทำให้มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น (Economy of Scale) ในที่สุด

ด้าน นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่บริหารจัดการโดยเกษตรกร จำนวน 882 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด ในปี 2558 เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนขยายผลการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินไปสู่ชุมชน และต่อมาในปี 2560 ได้ถูกจัดให้เป็นเครือข่ายด้านดินและปุ๋ยของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลการดำเนินงานของ ศดปช. 882 ศูนย์ ในปี 2562 สมาชิก ศดปช. 17,640 ราย เป็นตัวอย่างในการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ไม้ผล พืชผัก ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ลงได้เฉลี่ย 24.8% ในขณะที่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.4% ในพื้นที่ 222,293 ไร่

สำหรับจังหวัดพังงาได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) เป้าหมายเกษตรกร 1,088 ราย ใน ศดปช. 4 อำเภอ คือ อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอเกาะยาว และอำเภอตะกั่วป่า โดยมีการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทางเทคนิคและการบริหารธุรกิจให้แก่สมาชิก ศดปช. จัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่าย ศดปช. กับ ศพก. และแปลงใหญ่ สนับสนุน Soil test kit ในการให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน สนับสนุนแม่ปุ๋ย 3 ชนิด คือ สูตร 46-0-0 สูตร 18-46-0 และสูตร 0-0-60 รวมถึงสนับสนุนเครื่องผสมปุ๋ยเคมี ซึ่งผลสำเร็จจากโครงการฯ ในปี 2564 คือ เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตเฉลี่ย ร้อยละ 20 ด้านการใช้ปุ๋ย เกษตรกรมีองค์ความรู้ด้านการใช้ปุ๋ย ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการตรวจวิเคราะห์ดิน และการผสมปุ๋ยใช้เอง ศดปช. มีศักยภาพในการจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพให้ชุมชน สร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองให้แก่เกษตรกร รวมถึงสร้างงานสร้างรายได้ให้กับสมาชิก ศดปช. และคนในชุมชนอีกด้วย และในปี 2565 จะขยายผลในพื้นที่เป้าหมายอีก 2 แห่ง คือ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนอำเภอคุระบุรี ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

ด้านโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ในจังหวัดพังงา มีแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1 แปลง คือ แปลงใหญ่มังคุด หมู่ 1,2,4 ตำบลเหมาะ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ซึ่งร่วมกลุ่มกันขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาผลผลิตตกต่ำ และได้รับการสนับสนุนจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด จัดหาเครื่องจักรกลเกษตรเข้ามาช่วยในขั้นตอนการคัดคุณภาพและขนาดของผลผลิต รวมทั้งการแปรรูปผลผลิต เช่น เครื่องผสมปุ๋ยแนวตั้ง มอเตอร์ 5 แรงม้า เครื่องกวนผลไม้ กระทะทองเหลือง 30 นิ้ว ตู้แช่แข็งฝาทึบ เครื่องคัดขนาดมังคุด ตะกร้าผลไม้หูเหล็ก เครื่องพ่นแรงดันสูงแบบตั้งพื้น สายยาว 100 เมตร เครื่องพ่นสะพายหลัง ทำให้สามารถลดต้นทุนค่าแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการรวบรวมผลผลิตในปริมาณที่สูงขึ้น รวมถึงการแปรรูปมังคุดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มช่องทางการตลาดในช่วงมังคุดล้นตลาดหรือราคาตกต่ำ เพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรต่อไป
……………………