รัฐมนตรีเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์และสภาพปัญหายางพาราในพื้นที่จังหวัดพังงา เตรียมเดินหน้าเสนอโครงการประกันรายได้ ระยะที่ 3 เข้า ครม. เพื่อเป็นหลักประกันให้กับพี่น้องผู้ปลูกยางพารา

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์และสภาพปัญหายางพาราในพื้นที่จังหวัดพังงา ณ ที่ทำการกลุ่มเกษตรกรทำสวนโคกกลอย ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งกลุ่มเกษตรกรทำสวนโคกกลอย ได้จดทะเบียนตาม พรบ. สหกรณ์ พ.ศ. 2517 และได้ขึ้นทะเบียนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กับการยางแห่งประเทศไทย ตามพะราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ปัจจุบันมีสมาชิกสถาบันฯ จำนวน 289 คน ดำเนินธุรกิจหลักด้านการรวบรวมผลผลิตยางแผ่นดิบจากสมาชิกกลุ่มฯ และเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ข้างเคียง แล้วเปิดให้พ่อค้ายื่นประมูลราคาเพื่อลดการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เป็นจุดผสมปุ๋ยและจำายปุ๋ย ของ กยท.สาขาเมืองพังงา และเป็นศูนย์กลางการประสานงานหน่วยงานราชการและเอกชนในพื้นที่

นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังได้เป็นสมาชิกตลาดเครือข่ายของตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย สาขาเมืองพังงา ได้ให้ความช่วยเหลือในการเป็นตลาดเครือข่ายยางพาราของตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช เป็นสถานที่รวบรวมยางแผ่นดิบจากสมาชิกฯ และจังหวัดใกล้เคียง เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและคัดคุณยางแผ่นดิบคุณภาพเพื่อเข้าประมูลในตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช เป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการปรับปรุงการทำยางแผ่นดิบคุณภาพ สมาชิกสามารถจำหน่ายยางแผ่นดิบในราคาสูงกว่าท้องตลาด อีกทั้งตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราชได้เข้ามาช่วยเหลือด้านการบริการ การให้ความรู้กับชาวสวนยางให้ปรับปรุงการทำยางแผ่นดิบสั่งตัด ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด และขณะนี้ทางสมาชิกกลุ่มฯ ให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจกรรมรวบรวมยางดิบคุณภาพเพื่อส่งเข้าประมูลในขายตลาดกลาง

ทั้งนี้ จังหวัดพังงาปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัด มีเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 35,056 ราย พื้นที่สวนยางทั้งหมด 678,564 ไร่ ผลผลิต 138,073 ตัน/ปี มีสถาบันเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 14 สถาบัน ปัจจุบันการยางแห่งประเทศไทยสาขาพังงา ได้ดำเนินการางเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน ด้วยยางพันธุ์ ไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการปลูกสร้างสวนยางอย่างยั่งยืน เน้นการปลูกสร้างสวนยางแบบผสมผสาน เพื่อเพิ่มรายได้จากผลผลิตนอกเหนือจากยางพารา ซึ่งมาตรการในการดูแลเกษตรกรชาวสวนยาง ได้แก่

1) การช่วยเหลือเงินอุดหนุนแก่สถาบันเกษตรกร

2) การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นแปลงใหญ่ยางพารา

3) การสร้างเกษตรกรต้นแบบ หรือ Smartfarmer

4) การจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ

5) การจัดสวัสดิการเงินช่วยเหลือให้แก่สมาชิก

“ภารกิจสำคัญที่สุดคือการแก้ไขปัญหายางพาราเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกสวนยาง จึงได้มอบหมายการยางแห่งประเทศ (กยท.) ให้ดูแลเกษตรกรชาวสวนอย่างให้ดีที่สุด อะไรที่สามารถดำเนินการได้ให้ทำทันที สำหรับในพื้นที่จังหงัดพังงา กระทรวงเกษตรฯ โดย กยท. พร้อมจะเข้ามาดูแลทั้งในเรื่องราคายาง จะทำให้ได้มากกว่าราคาประกันรายได้ โดยการประกันรายได้ ระยะที่ 3 กระทรวงเกษตรฯ กำลังเตรียมเสนอเข้า ครม. พร้อมเดินหน้าต่อเพื่อเป็นหลักประกันให้กับพี่น้องผู้ปลูกยางพารา และขอให้ความมั่นใจว่าในยุคที่ผมบริหารจะไม่ทำให้ราคายางตกต่ำอย่างแน่นอน” ดร.เฉลิมชัย กล่าว