สาระชุมชนท่องเที่ยวกิน

ผืนป่าตะวันออกเมืองแพร่ แหล่งอาหารหลากหลายทางชีวภาพ ดอกงวมบานเหลืองทั้งดอยสูง อาหารประจำถิ่นปลายฝนต้นหนาว ฝักงวม ปูดอย แกงผลมะเดื่อ โส่ะหม่าโอ สุดยอดอาหารวันฝนฉ่ำก้าวสู่ความหนาวเย็นในเทือกเขาตะวันออกเมืองแพร่  แพร่เป็นเมืองเล็กๆ ผู้คนมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย อาชีพการเกษตรและป่าไม้เป็นอาชีพหลักของคนในเมืองนี้ ส่วนอุตสาหกรรมมีเพียงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อุตสาหกรรมในครัวเรือนไม่มีโรงงานขนาดใหญ่ ทำให้สภาพอากาศโดยรวมสะอาดมาก โดยเฉพาะในวันฝนฉ่ำ ปลายฝนต้นหนาว เมืองแพร่ถือเป็นสวรรค์บนดินเลยทีเดียว

ผืนป่าตะวันออกของเมืองแพร่ มีอาณาเขตติดกับจังหวัดน่านและจังหวัดอุตรดิตถ์ บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์พอดี บริเวณนี้คนเมืองแพร่บอกว่า เป็นหลังคาเมือง เพราะมีเทือกเขาสูงเป็นฉากส่งให้ดวงอาทิตย์สวยงามโดยไม่ต้องแต่งเติม มีภูเขาสลับซับซ้อน เป็นเขตป่าดงดิบ ป่าดิบแล้ง เบ็ญจพรรณ และ ป่าเต็งรัง สลับกันไปกับสวนเมี่ยง พื้นที่เกษตรแบบ วนเกษตร เป็นระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม ตำบลป่าแดง ชื่อนั้นเกิดจากปรากฏการณ์ของป่าในช่วงฤดูหนาวหรือเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้ทั้งป่าที่แก่จัดพร้อมร่วงหล่นสู่พื้นคืนสารอาหารให้แก่แม่ธรณีมีสีแดง สีส้ม สีเหลือง สดใสมากเมื่อต้องแสงแดดแรงยามหนาวเย็น

วันนี้ป่าในเขตตำบลป่าแดง ตำบลช่อแฮ และตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมืองแพร่ ยังเต็มไปด้วยความเขียวขจี ป่าหนาทึบเป็นอิทธิพลของป่าที่ออกมาบดบังบันดาลให้กลายเป็นอาณาจักรใหญ่ของสัตว์ป่าที่จะออกหากิน ก่อนเข้าสู่ฤดูจำศีลต่อไป ในห้วงนี้เองที่หุบเขาน้ำจ้อม มีลำห้วยน้ำจ้อม ลำห้วยก้นตาด ในตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ ถือเป็นสายเลือดสำคัญของป่า ลำห้วยขนาดเล็กน้ำไหลรินตลอดทั้งปี ความแรงของน้ำไม่อาจทำให้ความขุ่นข้นมากล้ำกลาย ยังคงใสสะอาดไหลเย็นตลอดเสียงน้ำใสไหลเย็น ในห้วยก้นตาดเหนือชุมชนเล็กน้อย เย็นยะเยือกไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอย่างไม่มีวันจบสิ้น ปลายฝนต้นหนาวอย่างนี้ น้ำจากยอดเขาเริ่มระบายลงสู่ลำห้วยอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสให้ “ต้นงวม” พืชพื้นบ้านในแถบนี้ ที่อยู่บนยอดดอยเกิดสภาพที่เหมาะสม ผลิ ดอกรับความหนาวเย็น ดูเหลืองอร่ามไปทั้งยอดดอย อากาศเริ่มเย็นในกลางเดือนพฤศิจกายน หลายบ้านต้องใช้ไฟจากฟืนผ่อนคลายความหนาวเย็น บอยคนบ้านน้ำจ้อม กับ ปิยะที่มีบ้านอยู่ในห้วยก้นตาด พากันเดินขึ้นภูเขาไปดูต้นงวมที่กำลังผลิดอกสีเหลืองสวยงาม พวกเขาชอบที่จะมาบนยอดดอยสูงช่วงนี้เพื่อชมดอกงวมสีเหลือง ประดุจดั่งเหลืองทองที่ฉาบแนวสันเขาในทุกปีที่งวมผลิบาน ดอกงวมมีให้ชื่นชมได้ไม่กี่วันดอกไม้งามเหล่านี้ก็จะกลายเป็นฝัก

“ฝักงวม” ถือเป็นผักพื้นบ้านชั้นเลิศ ที่คนเมืองแพร่สรรหามารับประทานเป็นอาหารประจำฤดูกาลนี้ งวมมีให้กินในช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ของทุกปี ความหนาวเย็นกับ งวม ผักพื้นบ้านถือเป็นของคู่กัน ชาวแพร่นำฝักงวมมาปรุงอาหารประเภทยำกับเนื้อสัตว์ คือเสริมรสเปรี้ยวในอาหาร ให้รสชาติเปรี้ยวอ่อนๆ หรือรสส้มพอดีปรุงอาหารชวนลิ้มลองและที่สำคัญงวมอุดมไปด้วยวิตามินซี เป็นอาหารบำบัดไข้หวัดสำหรับอากาศหนาวเย็นของคนเมืองแพร่ทุกปี งวมจึงมีสภาพเป็นยาประจำฤดูลดอาการเจ็บป่วยไข้ในช่วงเปลี่ยนฤดู จากฝนไปสู่ความหนาวเย็นนอกจากนั้นงวม กลายเป็นพืชเศรษฐกิจให้คนในท้องถิ่นได้ทำรายได้ในช่วงแรกของผลผลิต เนื่องจากมีราคาสูง เคยมีราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 1,000 บาท แต่ราคางวมจะผันผวนอย่างรวดเร็ว ภายในหนึ่งอาทิตย์ มูลค่าจะตกลงมาเหลือขีดละ 10 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังสามารถทำรายได้งามให้กับคนในชุมชนบนที่สูงไม่น้อย ปัจจุบันงวมไม่ใช่พืชป่าอีกต่อไป เพราะชาวบ้านแถบนี้นำมาปลูกเพื่อเป็นพืชทำรายได้ให้กับครัวเรือนนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมดอกงวม และลองลิ้มรสผักพื้นบ้านชนิดนี้ได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงสิ้นปี เข้าสู่ศักราชใหม่ นับเป็นโอกาสสำคัญของคนบนดอย เพราะเป็นช่วงที่ มีอาหารน่าสนใจมากมาย จากความหลากหลายของป่าที่มีพืชนานาชนิดนำมาปรุงเป็นอาหารเลิศรสได้ ผู้คนในชุมชนมีความรู้ในการนำมาประกอบอาหาร และที่สำคัญอาหารเหล่านี้มีความสำคัญต่อสุขภาพ เป็นอาหารปลอดสารพิษเพราะมาจากป่าที่บริสุทธิ์ ดุจดั่งน้ำใสไหลรินจากดอยสูง ถือเป็นอาหารวิเศษต่อสุขภาพ

วันที่ฝนตกช่วงเปลี่ยนฤดู ฝนพรำพร้อมหมอกฝนขาว หนาวเย็นปกคลุมส่วนบนของดอย “ปูดอย” ได้รับความชื้นและความเย็นเพียงพอพากันออกจากรูมาหากินซากพืชซากสัตว์ที่กำลังย่อยสลายในห่วงโซ่อาหาร ของความหลากหลายทางชีวภาพริมลำห้วยกลางป่าแห่งนี้ ปูดอยมีปริมาณมาก ถือเป็นกองทัพปูที่จะออกมาหากินพร้อมกันเป็นตัวย่อยสลายของเหลือในธรรมชาติให้กลายเป็นปุ๋ยเร็วขึ้น ปูดอยกลายเป็นอาหารเลิศรสของคนในท้องถิ่น ในฤดูนี้ปูมีเนื้อแน่นเต็มกระดอง ภายในเต็มไปด้วยเนื้อ มันสีขาว ไข่อ่อนสีส้ม และกระดองปูกรอบมากเพียงระยะเวลาสั้นๆ ที่ปูชนิดนี้ออกมาหากิน ปูดอยลำตัวมีสีสวยสดมาก เหลืองสด ม่วงสด ตัดกับน้ำใสแสงแดดส่องถึงพื้นล่างใบไม้สีเขียวไม่กลมกลืนแต่ตัดกับธรรมชาติโดยสิ้นเชิง ทำให้มันต้องใช้รูเป็นที่ซ่อนตัวหลบศัตรู มันเป็นวัฏจักรของห่วงโซ่อาหารได้อย่างน่าทึ่ง ปูเก็บเศษซากแมลงใบไม้ผลไม้ที่หล่นลงพื้นดินกำลังจะย่อยสลาย ปูเป็นตัวเร่งในการย่อยสลายซากเหล่านั้น

ธีรพล แสนผล หรือ บอย วัย 30 ปี ชาวบ้านน้ำจ้อม หมู่ 8 ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นชาวบ้านที่อยู่กับป่ามาแต่เกิด ห้วงเวลาหนึ่งที่เขาออกจากหมู่บ้านไปหาความเจริญในเมือง แต่ในที่สุดป่าก็ดึงดูดให้บอย กลับมาอยู่ที่น้ำจ้อมเป็นที่พำนักแบบยั่งยืน เพราะที่นี่มีอาหารประจำฤดูที่หลากหลายมากเขาชอบป่าชอบอาหารจากป่า ปูดอยนั้น บอยบอกว่า เราจะกินปูดอยเฉพาะในเดือนตุลาคม- พฤศจิกายนเท่านั้น และจะได้กินก็ต่อเมื่อฝนตกพรำๆ ปูจะออกจากรูมาให้จับ ชาวบ้านรู้ดีว่า การรักษาป่าให้สมบูรณ์ทำให้ปูดอยอยู่กับชุมชนไปตลอด บางปีที่ปูดอยลดลง ชาวบ้านที่รักปูดอยก็จะต้องคิดแล้วว่า อะไรเกิดกับป่าและช่วยกันหาทางฟื้นฟู ปูดอยเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญเหมือนกัน

บอย บอกว่า ปีนี้ (ปลายปี 2564) ปูดอยมีมากพอ ที่จะเรียกแขกให้คนหลายหมู่บ้านเข้ามายามฝนพรำจับปูดอยไปเป็นอาหารประจำวัน ปูดอยมีราคาตั้งแต่ตัวละ 10บาท-30 บาทราคาไม่ต่ำเลยถือเป็นรายได้ที่ได้จากป่า แต่ชาวบ้านไม่สนใจขายเพราะคิดว่านั่นคืออาหารที่ต้องให้ครอบครัวได้ลิ้มลองมากกว่า การจับปูดอยยามฝนพรำของคนในป่าหนาวแห่งนี้จึงถือเป็นประเพณีที่ผูกพันกับป่า ปูดอย เมื่อจับมาได้นำไปล้างให้สะอาดนำไปนึ่ง หรือ ต้มในน้ำร้อนๆ ราว 5 นาที มีน้ำจิ้มแบบซีฟูด หรือ น้ำปลาพริกป่าดอง เท่านี้ก็ยกเสิร์ฟได้แล้ว หรือจะนำไปแกงแค ห่อนึ่งปู หลามปูในกระบอกไม้ไผ่ แบบฉบับแกงของเมืองแพร่ รสชาดของปูดอยนั้นอย่างลำ (ลำคืออร่อย) เลยครับ บอยหนุ่มใหญ่ชาวน้ำจ้อมรับประกัน

บอยเล่าต่อไปอีกว่า ป่าแถบนี้มีไม้ป่าที่หลากหลายมาก เป็นทั้งอาหารและสมุนไพร ชาวป่าที่นี่มีความรู้ที่จะกินผลผลิตจากพวกมันได้อย่างสนิทใจเพราะไร้สารเคมีหรือสารพิษใดใด มะเดื่อต้นใหญ่ริมห้วยน้ำจ้อมมีผลใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้วทีเดียว ลูกใหญ่มากต้นเดือนพฤศจิกายน กำลังออกผลให้ได้เก็บมาเป็นอาหาร ชาวบ้านใช้ผลมะเดื่อดิบ มาปลอกเปลือกเฉาะเอาเฉพาะเนื้อสีขาว ส่วนเม็ดทิ้งไป นำมาแกงมะเดื่อ ประกอบด้วยเครื่องแกง พริก หอม ฮ้า(ปลาร้า) เกลือและใส่ร่วมกับผักชะอมหรือที่นี่เรียกว่า “ผักหละ” รสชาติไม่ต่างจากแกงขนุนของชาวเมืองแพร่ แกงผลมะเดื่อรับประทานแล้วไม่อยากหยุดชวนกินมากตรงรสสัมผัสของเนื้อผลมะเดื่ออร่อยมาก แต่ที่สำคัญมีให้กินในป่าแถบนี้เท่านั้น บอยอยากนำเสนออาหารในช่วงปลายฝนต้นหนาวอีกเมนู คือ โส่ะหม่าโอ ใช้ผลส้มโอท้องถิ่นที่มีรสเปรี้ยวมาแกะ ปรุงรสด้วยน้ำปูมะเขื่อแจ้ หรือมะเขือขื่นที่สุกเหลือง สร้างกลิ่นให้หอมเรียกน้ำลายเพิ่มอีกด้วยใบชะพลูหรือพลูนก ผักชีฟันเลื่อย นำไปคลุกเคล้าในครกทำคล้ายส้มตำ มันบอกไม่ถูกเลยสำหรับบ่ายๆ พักผ่อนในป่าริมลำธารน้ำจ้อม ผมไม่อยากไปจากที่น่าเลย เรายังมีกาแฟคั่วมือสดจริงๆ น้ำชาดอกกาแฟ ส้มโอกลิ่นใบเตย ใบเมี่ยง ฯลฯ

นางพรรณทิพย์ อารินทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ที่ รพ.สต.ป่าแดง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หมอน้อย” เป็นผู้ให้ความใกล้ชิดกับชุมชนกลายเป็นคนคุ้นเคยของชุมชนมากกว่าความเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเท่านั้น หมอน้อยกล่าวว่า พื้นที่ชุมชนน้ำจ้อม น้ำกลาย นาตอง อยู่ในตำบลช่อแฮ เดิมเป็นตำบลป่าแดงทั้งหมดทำให้ รพ.สต.ยังใช้ชื่อป่าแดงอยู่เป็นชุมชนที่อยู่กับป่า พึ่งพาอาหารจากป่า มีวัฏจักรของห่วงโซ่อาหารตลอดทั้ง 12 เดือน มีอาหารให้ได้เก็บรับประทานได้ไม่ซ้ำกันรวมทั้งยาสมุนไพรที่ใช้ความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ชาวบ้านแทบจะไม่ใช้เงิน มีทั้งพืช ผัก ผลไม้ พืชหัว สัตว์แมลงในธรรมชาติ ปู ปลา หอย มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ห่วงโซ่อาหารเหล่านี้ อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ถือเป็นอาหารที่ปลอดสารเคมีโดยสิ้นเชิง ปัจจุบันเรามักพบว่าผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลเกิดจากปัญหาโภชนาการที่มีการรับประทานไม่ถูกหลักจนกลายเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคติดต่อมีอัตราสูงมาก (NCD) แต่ในชุมชนนี้พบว่า พวกเขามีสุขภาพดีมาก มีอัตราผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน หัวใจมีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าคนในเมือง เมื่อก่อนทางการแพทย์มักมองว่าอาหารจากป่าไม่ปลอดภัย แต่ปัจจุบันมีคำตอบชัดเจน ที่สำคัญที่หมออยากย้ำคือการบริโภคตามห่วงโซ่อาหารใน 12 เดือนของชาวน้ำจ้อม จะมีความหลากหลายของสารอาหารเข้าไปสู่ร่างกาย สิ่งเหล่านี้คือภูมิคุ้มกันให้พวกเขาป่วยน้อยกว่าพื้นที่อื่น เราเพียงให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยเท่านั้นเพราะอาหารทุกอย่างถือเป็นอาหารในระดับอินทรีย์ ทีเดียว การดูแลเรื่องลูกน้ำยุงลาย ไข้ป่า โรคติดต่อในป่าเหล่านี้ก็ยังมี ผู้รู้ภูมิปัญญาด้านสุขภาพของคนพื้นเมืองเข้ามาเสริมทำให้วางใจในการดูแลสุขภาพไปมากเลย

หมอน้อย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญของอาหารและสุขภาพคือการรักษาความสมดุลของป่าเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ชาวบ้านมีความรู้โดยไม่ต้องสอนเพราะในเป็นวัฒนธรรมการหาอาหาร เช่น ไม่หาปูนอกฤดูเป็นต้น ทำให้การเจริญพันธุ์ของความหลากหลายยังคงอยู่ไปตลอดกาล หมอน้อยย้ำเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสุขอนามัยที่มันต้องไปด้วยกันเสมอ

เมื่อเป็นเช่นนี้ น้ำจ้อม ป่าฝนปนหมอกหนาวในหุบเขาและดอยสูงจะมีเวลายาวไปจนถึงฤดูร้อนที่ป่าเปลี่ยนเป็นสีแดง ชาวบ้านเรียกกันว่า “ป่าแดง” เหมาะมากกับการไปเยือนซักครั้งในชีวิตเพิ่มโอโซนให้กับร่างกาย ชุมชนในป่าน้ำจ้อม ห่างจากตัวเมืองเพียง 20 กม.เศษเท่านั้น ถือเป็นสถานที่ห่างจากผู้คนหนาแน่น มีประชากรอยู่อย่างเบาบาง จึงปลอดโควิด19 ภายใต้การควบคุมของ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ เป็นอย่างดี จึงไม่ต่างอะไรกับแดนสวรรค์ที่หาได้ในจังหวัดแพร่สำหรับการปลดปล่อยชีวิตให้อยู่กับธรรมชาติ ผืนป่าตะวันออกของจังหวัดแพร่ แห่งนี้ ถือเป็นเพชรงามที่รอผู้คนไปดื่มด่ำ ทางราชการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ และ พื้นที่ที่ประชาชนอยู่ร่วมกับป่าได้ มีสภาพเป็น วนเกษตร จึงเหมาะมากที่จะมาสัมผัส สำหรับคนที่รักสุขภาพและชอบเดินป่าศึกษาสมุนไพร

ภาพ/ข่าว
ราเชนทร์ โชติถนอมกิจ
แพร่.รายงาน