สนค. ชี้ Blockchain เสริม Food Traceability พร้อมอัพเดทความคืบหน้าระบบ TraceThai

สนค. เดินหน้าระบบ TraceThai ตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์บน Blockchainชี้สร้างความน่าเชื่อถือ โปร่งใสของข้อมูลการผลิตและการค้า พร้อมเปิดรับผู้ผลิต ผู้ประกอบการอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากลหรือ Organic Thailand เข้าร่วมโครงการ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดี สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยรายละเอียดการพัฒนาระบบ TraceThai.com ว่า Blockchain สามารถสนับสนุนการจัดการสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพราะระบบการบันทึกข้อมูลแบบ Shared Ledger หรือ ระบบบันทึกรายการธุรกรรมดิจิทัลบนคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในเวลาเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลที่บันทึกได้ ไม่ต้องมีคนกลางข้อมูลเป็นสาธารณะ แต่ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัว กำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลที่เหมาะสมได้ จึงช่วยให้ตรวจสอบย้อนกลับหรือติดตามสินค้า ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การจัดเก็บ การกระจายสินค้า และการบริหารจัดการภายในได้ และสามารถใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น RFID, QR Code, NFC, Internet of Things (IoT), Cloud Computing, GPS, AI หรือ Big Data เป็นต้น

ปัจจุบันในต่างประเทศมีการศึกษาและประยุกต์ใช้ Blockchain เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับในหลายกรณี ตัวอย่างเช่น ระบบ Food Trust ของ บริษัท IBM ที่ร่วมกับ Walmart สำหรับติดตามสินค้ามะม่วงสุกที่ขายในห้าง และขยายไปยังสินค้าอีกหลายชนิด โครงการ BlocRice ของ Oxfam ที่ใช้ Blockchain ตรวจสอบย้อนกลับสินค้าข้าวในกัมพูชา มีการสร้างสัญญาซื้อขาย Smart Contract ระหว่างชาวนา สหกรณ์ บริษัทส่งออกบริษัทนำเข้าเพื่อสร้างความโปร่งใสในการค้าและการชำระเงิน บริษัท ไทยยูเนี่ยน ผู้ผลิตทูน่ากระป๋องนำเอา Ethereum Blockchain มาใช้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถสแกน QR Code บนกระป๋องทูน่า เพื่อตรวจสอบที่มาของทูน่ากระป๋องที่ตนซื้อได้ เช่น แหล่งจับปลา ช่วงเวลาที่จับ วิธีการขนส่ง รวมทั้งแหล่งแปรรูปสินค้า

หน่วยงานรัฐ เอกชน และสตาร์ทอัพทั่วโลกต่างก็สนใจที่จะใช้ Blockchain ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญสำหรับธุรกิจเกษตรและอาหาร สืบเนื่องมาจากความใส่ใจเรื่อง Food Safetyและสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ความตระหนักในเรื่องสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงกฎระเบียบมาตรการทางการค้าประเทศต่างๆ ทำให้การตรวจสอบย้อนกลับเป็นแนวโน้มสำคัญของธุรกิจเกษตรและอาหารในอนาคต

สนค. ได้นำ Blockchain มาพัฒนาระบบต้นแบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือ TraceThai.com โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐ เอกชน เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งพัฒนาเป็นระบบต้นแบบ TraceThai.com ซึ่งมีกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์นำร่องเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปี 2563 – 2564 รวม 34 กลุ่ม/ราย กระจายในพื้นที่ 17 จังหวัด และในปี 2564 นี้ ได้ขยายเกณฑ์ให้ครอบคลุมสินค้าอินทรีย์ทุกชนิดที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยรับรองมาตรฐาน (Certification Body: CB) ทั้งที่เป็นมาตรฐานอินทรีย์ในประเทศคือ Organic Thailand และมาตรฐานอินทรีย์สากล เช่น EU Organic, USDA, IFOAM รวมถึงสินค้าอินทรีย์มาตรฐาน GI

กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการหลายรายที่มีศักยภาพเข้าร่วมเป็นกลุ่มนำร่องในระบบ TraceThai แล้วอาทิ

– กรีนลิฟวิ่งแคมป์ จังหวัดนครปฐม เป็นผู้ประกอบการที่ทำฟาร์มออร์แกนิคที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล นำข้าวอินทรีย์ขายผ่าน Amazon และกำลังขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้ง กล้วยตาก ชาสมุนไพรจากอัญชัน กระเจี๊ยบแดง ใบเตย

– บ้านสวนข้าวขวัญ นาข้าวอินทรีย์ ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวอินทรีย์จากสุพรรณบุรี นักวิชาการที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกร มุ่งมั่นทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานสากลทั้ง IFOAM, EU, COR, และ USDA จนมีผลผลิตส่งออก

– วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านโคกทรายผ่อง ได้รับมาตรฐานทั้ง Organic Thailand และ GIจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งได้ขึ้นทะเบียนบ้านโคกทรายผ่องเป็นหมู่บ้านอินทรีย์ (Organic Village)แห่งแรกของภาคใต้

– บริษัท คิงด้อม ออร์แกนิค เนทเวิร์ค (ไทยแลนด์) เป็นตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรและผู้จัดจำหน่าย นำร่องการขายข้าวอินทรีย์ และถั่วเหลืองอินทรีย์ผ่าน TraceThai เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศ ส่งออก รวมทั้งส่งเป็นวัตถุดิบให้กับร้านอาหาร และบริษัทแปรรูป

นายรณรงค์ ได้กล่าวถึงแผนงานในปี 2565 ว่า สนค. ยังคงตั้งเป้าขยายการใช้งานระบบ TraceThai.comให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ไทยให้มากขึ้น โดยร่วมกับพันธมิตรเครือข่าย เช่น ธ.ก.ส. สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด รวมถึง สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งผู้สนใจที่ผลิตสินค้าแปรรูปหรือจัดจำหน่ายสินค้าอินทรีย์และได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์แล้ว สามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ที่ tracethai@moc.go.th หรือ Facebook.com/tracethai
—————————————————
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
15 พฤศจิกายน 2564