สภาพัฒน์เล็งพิษณุโลกเป็นโมเดลแก้จนจากการวิเคราะห์ข้อมูล TPMAP ด้วยกลไก ศจพ.

ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ณ ห้องประชุมสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (741) นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ด้วยระบบ TPMAP ซึ่ง นายวันชาติ สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย นายสรศาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาชุมชนเขตตรวจที่ 17 และนายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ตลอดจน นางสาวมนิดา ลิ่มนิจสรกุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะ ได้ลงพื้นที่ตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย และนิคมสร้างตนเองบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่โดยระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 โดยมี นายอัครโชค สุวรรณทอง นายอำเภอบางระกำ นางอรนุช ชัยชาญ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก และนางศุภลักษ์ แก้วมณี พัฒนาการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยพัฒนาการอำเภอบางระกำ พัฒนาการอำเภอนครไทย และหัวหน้าหน่วยงาน One Home พม. จังหวัดพิษณุโลก ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการระดับท้องที่ให้การต้อนรับและร่วมนำเสนอแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้จัดทีมลงพื้นที่ครัวเรือนเป้าหมาย จำนวน 20 ครัวเรือน เพื่อทำการทดสอบแบบสอบถามแก่หัวหน้าครัวเรือนและสมาชิกในครัวเรือนอีกด้วย

ในการประชุมดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้กล่าวถึง กลไกการขับเคลื่อนโครงการ “พิษณุโลกรวมพลัง พัฒนาคนคุณภาพชีวิต พิชิตความยากจน” โดยการบูรณาการขับเคลื่อนงานของศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) และ สจพ.ระดับอำเภอ 9 คณะ ตลอดจนทีมปฏิบัติงานขจัดความยากจนในระดับพื้นที่อีก 92 ทีม และคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ เป็นเจ้าภาพเชิงมิติ 5 ด้าน ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านความเป็นอยู่ มิติด้านการศึกษา มิติด้านรายได้ และมิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ ซึ่งการดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จากระบบ TPMAP พบว่า คนตกมิติการพัฒนาในจังหวัดพิษณุโลก มิติด้านรายได้มากที่สุด ในตัวชี้วัด การดื่มสุราและสูบบุหรี่ อาจเป็นหนึ่งปัจจัยทำให้ครอบครัวมีปัญหาในมิติด้านรายได้ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินการจัดทำโครงการ/การดำเนินงาน/กิจกรรมจะต้องสอดคล้องกับมิติปัญหาที่พบในพื้นที่ บริบทของพื้นที่ และทรัพยากรในพื้นที่ที่มี “จังหวัดพิษณุโลกมุ่งแก้ปัญหาความยากจนไม่ใช้แก้เพียงแค่ให้เขาอยู่รอด แต่มุ่งแก้ให้เขาอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างพอเพียง นำไปสู่การหลุดพ้นความยากจนอย่างยั่งยืน”

ทางด้านรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เล็งเห็นการนำข้อมูล TPMAP มาใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์นำไปสู่การพัฒนาแบบเจาะกลุ่มคนที่ต้องได้รับการพัฒนาระดับต่างๆ แต่ละด้าน เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาคนทุกช่วงวัย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการเป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ นำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป