นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 19 การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 12

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 19 การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 12 และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – ประเทศคู่เจรจาและภาคีเพื่อการพัฒนา สมัยพิเศษ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 19 การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 12 และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – ประเทศคู่เจรจาและภาคีเพื่อการพัฒนาสมัยพิเศษ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี H.E. Mr. SUN Chanthol รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของกัมพูชา เป็นประธานร่วมการประชุม ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 19 ที่ประชุมได้แสดงความยินดีที่ญี่ปุ่นประกาศให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามแผนยุทธศาสตร์ ด้านการขนส่งกัวลาลัมเปอร์ ปี 2559 – 2568 ผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน – ญี่ปุ่น อย่างครอบคลุมและยั่งยืน และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการและการรับรอง “รายงานฉบับสุดท้ายว่าด้วยการศึกษาการทดสอบระบบสาธิตการควบคุมยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเกินด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ” และ “แนวปฏิบัติอาเซียน – ญี่ปุ่น ในการตรวจประเมินมาตรฐานการบริหารจัดการโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ” ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญตามแผนงานความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่น ปี 2563 – 2564

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบให้คณะเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาเซียน – ญี่ปุ่น ดำเนินการให้ได้ข้อสรุป เพื่อให้การจัดทำความตกลงฯ มีความเสรีมากขึ้นและเกิดประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียน – ญี่ปุ่น ในการนี้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ได้กล่าวขอบคุณญี่ปุ่นที่ให้ความช่วยเหลืออาเซียนในการจัดทำเอกสารแนวปฏิบัติอาเซียน – ญี่ปุ่น ในการตรวจประเมินมาตรฐานการบริหารจัดการโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อการยกระดับมาตรฐานการขนส่งในภูมิภาคให้ทัดเทียมนานาประเทศและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในอาเซียน รวมถึงการดำเนินกิจกรรมการทดสอบระบบสาธิตการควบคุมยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเกินด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งประเทศไทยทำหน้าที่ Lead Country ในกิจกรรมดังกล่าว โดยมีการทดสอบระบบสาธิต และการสำรวจข้อมูลในไทยในช่วงเดือนมีนาคม – กันยายน 2564 ที่ผ่านมา และได้กล่าวสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อริเริ่มใหม่ที่จะเริ่มในปี 2565 คือ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) สำหรับวางแผนการคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับอาเซียนในการใช้ Big Data วางแผนการขนส่งในประเทศของตนต่อไป

2. การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 12ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการต่าง ๆ ดังนี้

2.1 โครงการ/กิจกรรม ประจำปี 2564 ภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ปี 2564 – 2568 ด้านการพัฒนาบุคลากร และด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ โดยขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการดำเนินโครงการ/กิจกรรมอื่น ๆ ด้านการขนส่งภายใต้แผนงานฯ รวมทั้งการพิจารณาข้อเสนอโครงการของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะรวมไว้ในแผนงานฯ ในอนาคตต่อไป

2.2 โครงการนำร่องในการดำเนินงาน เพื่อการเป็นตลาดการขนส่งทางน้ำร่วมอาเซียน (ASEAN Single Shipping Market : ASSM) ซึ่งขณะนี้การสำรวจเอกสารสำหรับการดำเนินการ ณ ท่าเรือ ในท่าเรือเป้าหมาย 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือยะโฮร์ (มาเลเซีย) ท่าเรือดาเวา (ฟิลิปปินส์) และท่าเรือสิงคโปร์ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ รวมทั้งการจัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อการเปิดเสรีที่มากขึ้นและการแลกเปลี่ยนสิทธิการบินที่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน และสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีและภายนอกภูมิภาค

ในการนี้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ได้กล่าวขอบคุณสาธารณรัฐเกาหลีที่ได้ให้ความช่วยเหลืออาเซียนในการดำเนินการกิจกรรมภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้และการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ด้านการขนส่ง เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านการขนส่งที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมความแน่นแฟ้นและสร้างเครือข่ายระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านการขนส่งของอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีด

3. การประชุมระหว่างรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – ประเทศคู่เจรจาและภาคีเพื่อการพัฒนา สมัยพิเศษประเทศคู่เจรจาและภาคีเพื่อการพัฒนาที่เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ธนาคารโลก และองค์การการขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ได้นำเสนอกิจกรรม/โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับอาเซียน รวมทั้งการเสนอความร่วมมือที่จะดำเนินการในอนาคต ด้านการคมนาคมขนส่งตามความเชี่ยวชาญของตนให้ที่ประชุมทราบ ซึ่งที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศคู่เจรจาและภาคีเพื่อการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการขนส่งในอาเซียน รวมทั้งประเด็นที่คู่เจรจาและภาคีเพื่อการพัฒนาประสงค์จะมีความร่วมมือกับอาเซียน

ในการนี้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายระดับประเทศด้านการขนส่งที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงภูมิภาค และโอกาสในการร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาและหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ของไทย อาทิ MR-Map Land Bridge และ EEC รวมทั้งข้อมูลการดำเนินงานกับประเทศคู่เจรจาและภาคีเพื่อการพัฒนา โดยประเทศไทยได้เสนอขอบเขตความร่วมมือที่เป็นไปได้ด้านการขนส่งที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงความปลอดภัยทางถนน ที่เสนอให้มีการศึกษาความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาล ซึ่งถือเป็นปัญหาร่วมของภูมิภาคอาเซียนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากประเทศคู่เจรจาและภาคีเพื่อการพัฒนาในการบรรลุเป้าหมายการลดอัตราการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 50 ภายในปี 2573