รัฐมนตรีเกษตรฯ บินสำรวจสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พบน้ำเอ่อล้นเพียงเล็กน้อย มอบกรมชลประทานเร่งระบายน้ำภายใน 2 – 3 วัน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (เขื่อนเพชร) ซึ่งจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ระหว่างวันที่ 8 – 9 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักมากในพื้นที่ตอนกลางและตอนบนของลุ่มน้ำเพชรบุรี ซึ่งกรมชลปนะทานได้พร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน อ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ และอ่างเก็บน้ำห้วยผาก ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พ.ย. 64) อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำ 647.953 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 91.26 ของความจุ ปัจจุบันปิดการระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ มีปริมาณน้ำ 45.687 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 108.26 ของความจุ ปัจจุบันเปิดการระบายน้ำ 50 ลบ.ม./วินาที และอ่างห้วยผาก มีปริมาณน้ำ 27.709 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 100.76 ของความจุ ปัจจุบันเปิดการระบายน้ำ 3 ลบ.ม./วินาที

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการบินสำรวจความเสียหายพบว่ามีปริมาณน้ำเอ่อล้นบริเวณอำเภอบ้านลาดเพียงเล็กน้อย จึงมอบหมายให้กรมชลประทานให้เร่งระบาดน้ำไม่เกิน 2 – 3 วัน อีกทั้งให้ประสานทางจังหวัดในการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มกำลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำที่มีปริมาณมากในเขื่อนเพชรบุรี ซึ่งหากมีการวางแผนที่ดีจะทำให้จัดการน้ำได้อย่างมีระบบ

และจากการติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่พบว่าขณะนี้กรมชลประทานได้มีการบริหารน้ำผ่านคลองระบายน้ำ D1 เพื่อตัดยอดน้ำที่จะระบายสู่แม่น้ำเพชรบุรี ไม่ให้เกินศักยภาพ ส่งผลให้น้ำไม่เอ่อท่วมในตัวเมืองเพชรบุรี อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อีกระยะหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูมรสุมของภาคใต้ และนอกจากการป้องกันอุทกภัยแล้ว ยังต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไปด้วย อีกทั้งของให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ติดตามเกษตรกรและประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง หากเกิดความเสียหายทางการเกษตรจะได้เร่งดำเนินการและมีมาตรการช่วยเหลือทันที

สำหรับการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เพชรบุรีที่เกิดซ้ำซาก จำเป็นที่จะต้องทำคลองระบาบน้ำเพิ่ม คือ โครงการคลอง D1 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ในแนวโครงการ อาจจะมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกันในบางประเด็น แต่ต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจกับให้พี่น้องประชาชนให้มากที่สุด ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อปรับรูปแบบของโครงการ ให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เกิดประโยชน์มากที่สุด