เมื่อผีเสื้อขยับปีกอีกครั้ง

“อย่าปล่อยให้ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเรื่องที่ถูกสังคมเพิกเฉย จะต้องมีผีเสื้ออีกสักกี่ตัวที่ต้องถูกทำร้ายจากการถูกล่วงละเมิด” คำกล่าวของป้ามล หรือ นางทิชา ณ นคร จากงานเปิดตัว “หนังสือผีเสื้อขยับปีก” เรื่องเล่ากระบวนการเสริมพลังใจ เปลี่ยน “เหยื่อ” สู่ “พยาน” เพื่อทวงคืนความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ถูกกระทำ

ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเด็กและเยาวชนยังคงเกิดขึ้นให้เห็นในหลาย ๆ ครั้ง พบว่า เกิดเฉลี่ย 14 ราย/วัน และเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง สังคมต้องให้ความสำคัญและไม่เพิกเฉยต่อปัญหานี้ จากบทเรียนกรณีคดีละเมิดทางเพศเด็กหญิงอายุ 14 ปี บ้านเกาะแรด จังหวัดพังงา กรณีนี้ถือเป็นงานด้านการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่ สสส. ร่วมกับมูลนิธิเด็กและเยาวชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ผลักดันให้เกิดการถอดบทเรียนองค์ความรู้ การทำงานข้ามศาสตร์ ข้ามองค์กร เพื่อหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีล่วงละเมิดในเด็กและเยาวชน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. ไม่ได้ทำแค่เรื่องเหล้า บุหรี่ แต่ความจริงแล้ว สสส. ยังขับเคลื่อนงานโครงการปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงในด้านอื่น ๆ อีกด้วย และได้เรียนรู้ว่า ภัยของเด็กมีมากกว่านั้น จากกรณีคดีละเมิดทางเพศเด็กหญิงอายุ 14 ปี บ้านเกาะแรด จังหวัดพังงา สสส. ร่วมกับมูลนิธิเด็กและเยาวชน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน พัฒนาจัดทำหนังสือ “ผีเสื้อขยับปีก” ที่สะท้อนเรื่องราวของผู้ถูกกระทำที่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ ทวงคืนความยุติธรรมและปกป้องสิทธิของตัวเอง” ดร.สุปรีดา กล่าว

เมื่อถามถึงที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้  “ผีเสือขยับปีก” นางทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ที่ปรึกษามูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า เวลาที่เราเห็นผีเสื้อเราจะนึกถึงความสวยงามของตัวผีเสื้อ ขณะเดียวกันก็จะเห็นความเปราะบางของเขา ก็เหมือนกับเด็ก ๆ ที่ตั้งชื่อผีเสื้อขยับปีกนี้ เหมือนกับว่าปีกของเขาได้หักไปแล้วจากการถูกละเมิด ถูกทำให้ไม่สามารถที่จะโบยบินได้ การซ่อมปีกครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น เมื่อเขาได้ถูกซ่อมปีกเรียบร้อยแล้ว เขาจะโบยบินได้อีกครั้งหนึ่ง หลักสำคัญนั่นก็คือช่วงเวลาแห่งการซ่อมปีก คือช่วงเวลาของการ เสริมพลังหรือการได้รับการเยียวยา กระบวนการเยียวยานี้ไม่เพียงเกิดขึ้นจากจิตแพทย์แต่ทุกคนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล้วนมีพลังในการเยียวยาเหยื่อการสร้างความมั่นใจความไว้วางใจทำให้เหยื่อค่อยค่อยก้าวออกมาจากความด้อยค่าและเข้มแข็งขึ้นอีกครั้ง

“เด็กที่ถูกล่วงละเมิดเป็นเวลานาน ความรู้สึกที่จะติดตัวเขาอยู่เสมอคือคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี มีมลทิน มีความผิด ถ้าหากว่าเราไม่เยียวยาเขาไม่ทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง การเยียวยาจึงสำคัญจำเป็นอย่างที่สุดตลอดสายธารกระบวนยุติธรรมหรือแม้กระทั่งชั่วชีวิตของเหยื่อเลยก็ว่าได้  และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากผลักดันให้เกิดขึ้น เราเรียกสิทธินี้ว่า สิทธิที่จะถูกลืม ต้องถูกเขียนเป็นกฎหมาย เลข 13 หลักในชีวิตของเขาเลขเดิมต้องหายไปและเกิดเป็น 13 หลักใหม่ ชื่อนามสกุลของเขาต้องถูกเปลี่ยนโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่การร้องขอ สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นเพราะกติกานี้ยังไม่ถูกเขียน ซึ่งเด็ก ๆ จะต้องได้รับสิทธินี้ในกลุ่มคนที่เข้าสู่การคุ้มครองพยาน

การที่เด็กจะเติบโตเกิดขึ้นมาได้เขาจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน เรื่องพื้นฐานที่มักจะเห็น สสส. ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหล้าบุหรี่ นอกจากเรื่องเหล่านี้แล้ว สสส. ยังให้ความสำคัญ กับการทำงานด้านสุขภาพวะของเด็กและเยาวชน ทั้งหมดนี้ถ้าหากไม่ได้ สสส. สนับสนุน คนทำงานก็ต้องเดือดร้อน ทีมงานได้ไปปรึกษาสำนัก1 ของ สสส. เขารู้สึกได้ว่าอย่างไรก็ต้องช่วย เพื่อให้เด็กที่อยู่ปลายทางของหมุดหมายนี้ต้องได้รับคำตอบและการเยียวยา มูลนิธิ ฯ ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก สสส. วันนี้น้องเรียนจบ มีงานทำแล้ว ครอบครัวของเขามีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า ความยุติธรรมนั้นเยียวยาเขาได้จริง ๆ กระบวนการยุติธรรมศักดิ์สิทธิ์ ความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมกลับมา เราก็ยังอยากเห็นภาพเหล่านี้อีกหลายครั้ง ถ้าหากยังมีเหตุการณ์ละเมิดแบบนี้อยู่ แต่หากเป็นไปได้ก็ไม่ควรที่จะต้องมีเด็กคนไหนถูกละเมิดอีก” ป้ามล กล่าว

นอกจากนี้ป้ามลยังได้เล่าถึงขึ้นตอนสำคัญการทำงานด้านการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดในกรณีดังกล่าว ด้วยว่า

ขั้นตอนที่ 1 ต้องนำเด็กผู้เสียหายออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้

ขั้นตอนที่ 2 ประสานบ้านพักเด็กในพื้นที่ และนำเด็กผู้เสียหาย พร้อมครอบครัว เข้าพักในระหว่างที่ทำคดี และป้องกันกันถูกทำร้าย

ขั้นตอนที่ 3 นำผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยาน

ขั้นตอนที่ 4 ใช้กระบวนการเยียวยา ให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้เสียหายมีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับตัวเอง กลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง

ขั้นตอนที่ 5 ผลักดันให้เกิด “สิทธิที่จะถูกลืม” เขาไม่อยากให้ใครจำเขาได้ว่าเป็นผู้ถูกละเมิด สิทธิที่จะถูกลืมต้องถูกเขียนเป็นกฎหมาย เลข 13 หลักในชีวิตของเขาต้องหายไปและเกิดเป็น 13 หลักใหม่ ชื่อนามสกุลของเขาต้องถูกเปลี่ยนใหม่ ซึ่งเด็ก ๆ จะต้องได้รับสิทธินี้ในกลุ่มคนที่เข้าสู่การคุ้มครองพยาน

ปัญหาการถูกล่วงละเมิดในเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ ร่วมกันแก้ไขและหาแนวทางป้องกันปัญหานี้อย่างจริงจัง สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนโครงการปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน ผลักดันให้เกิดความยุติธรรมและการเยียวยาในผู้ถูกละเมิด สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อไม่ให้มีใครต้องโดดเดี่ยวหรือต่อสู้เพียงลำพัง

สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือ “ผีเสื้อขยับปีก” ที่ถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียน กรณีคดีละเมิดทางเพศเด็กหญิงบ้านเกาะแรด จังหวัดพังงา จำหน่ายในราคา 250 บาท โดยรายได้จากการจำหน่ายหนังสือ มอบให้เป็นทุนในการดำเนินชีวิตของครอบครัวผู้เสียหายคดีเกาะแรด สามารถสอบถามสั่งซื้อได้ที่เพจ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว โทร. 02-0481950