สผ. ร่วมพลังอาเซียนขับเคลื่อนเป้าหมายลดโลกร้อน

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. ร่วมเวทีเสวนา ASEAN Event ในหัวข้อ “ASEAN NDC Partnership: Showcasing Regional Ambition Through Updated NDC” เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ณ Indonesia Pavilion ในห้วงของการประชุม COP26 เพื่อแลกเปลี่ยนเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 6 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่ง ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. เน้นย้ำความเร่งด่วนในการดำเนินงานเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งจากผลกระทบที่รุนแรงจากภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญและยกระดับเป้าหมายให้ท้าทายมากขึ้นตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม World Leaders Summit เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ในการมุ่งบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2065 และเพิ่มเป้าหมาย NDC ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 40 หากได้รับการสนับสนุนจากกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเพียงพอ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Net-zero GHG emission ได้เร็วยิ่งขึ้น

โดยการมีส่วนร่วมของ Non-Party Stakeholders อาทิ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ที่ร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกับกลไกเชิงนโยบายของภาครัฐ กอปรกับการเงินการลงทุน การวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะทำให้ไทยบรรลุตามเป้าหมาย ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะกลไกของภูมิภาคอาเซียนจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งการดำเนินงานและขีดความสามารถของประเทศสมาชิกให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลกร่วมกันได้

และในท้ายที่สุด ดร.พิรุณฯ ได้กล่าวเน้นย้ำว่า “แม้ว่า 197 ประเทศสมาชิกรวมทั้งประเทศไทยจะช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกได้มากเพียงไร แต่อุณหภูมิของโลกจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.5 องศาเซลเซียส ซึ่งยังคงไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงของภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศได้ ดังนั้น เราจึงต้องดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สมดุลกับการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อปกป้องโลกใบนี้พร้อมกับการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืนต่อไป”