รมว.ทส. ให้สัมภาษณ์แนวทางการมุ่งสู่ Carbon neutrality และ Net Zero GHG Emission ของไทย

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้สัมภาษณ์ระหว่างเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในการประชุม COP26 เกี่ยวกับเป้าหมาย Carbon neutrality และ Net Zero GHG Emission ของไทยว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการตามเป้าหมาย NAMA ซึ่งเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจภายในปี ค.ศ. 2020 ที่ตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกไว้ร้อยละ 7-20 ซึ่งล่าสุดพบว่าประเทศไทยสามารถดำเนินการได้แล้วร้อยละ 17 เมื่อปี ค.ศ. 2019 นอกจากนั้น ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศของอาเซียนที่ได้จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรียบร้อยแล้ว (อีก 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และอินโดนีเซีย)

โดยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานเป็นระยะ เริ่มจากปี ค.ศ. 2030 ประเทศไทยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ร้อยละ 20-25 แต่หากได้รับการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถ จากความร่วมมือระหว่างประเทศและทั้งภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ รวมถึงทวิภาคีและพหุภาคีอื่นจะทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับเป้าหมายนี้ได้ถึงร้อยละ 40 ซึ่งเป้าหมายนี้อยู่ในการศึกษาที่ประเทศไทยได้ทำการศึกษามาตั้งแต่แรกในส่วนที่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากต่างประเทศ หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 2035 ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนตลาดของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เป็นรถใหม่ให้ได้ร้อยละ 69 จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 30

จากนั้น ในปี ค.ศ. 2037 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มการกักเก็บและดูดกลับของคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคป่าไม้ให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และโดยที่มีคำถามเกี่ยวกับการเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ระดับผู้นำในด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) ที่มีการรับรองในการประชุม COP26 นี้ ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมแล้วกว่า 130 ประเทศนั้น ขอให้เข้าใจว่าการที่ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมในปฏิญญาดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยไม่เห็นด้วย แต่มีสาเหตุมาจากความจำเป็นที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายภายในประเทศให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาสารัตถะ ก่อนจะดำเนินการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป ท้ายที่สุด ในปี ค.ศ. 2050 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายจะมีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065

อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากต่างประเทศในการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติม จะทำให้สามารถขยายออกไปให้ครอบคลุมมาตรการ สาขาและก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ได้มากขึ้น เช่น การลดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากโรงงาน และการลดก๊าซมีเทนจากการทำนา เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงินจากต่างประเทศเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนโดยไม่เป็นภาระเพิ่มเติมเกินความจำเป็นแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกร โดยประเทศไทยจะได้เร่งดำเนินความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อให้สามารถมุ่งบรรลุตามเป้าหมายที่มีความท้าทายนี้ได้ต่อไป