พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ให้กรมบัญชีกลาง ทอดถวายแด่ วัดพนัญเชิงวรวิหาร

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ให้ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานนำมาถวายพระสงฆ์จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร พระอารามหลวง ชั้นโท โดย นายวีรชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มอบหมายให้ นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย ผู้บริหารจากกรมบัญชีกลาง ร่วมพิธีฯ โดยมีพระเดชพระคุณ พระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นประธานสงฆ์ ณ พระอุโบสถวัดพนัญเชิงวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ในโอกาสนี้ ได้ถวายผ้าพระกฐิน พร้อมด้วยเครื่องบริวารพระกฐินพระราชทาน ได้แก่ บาตร เครื่องอัฐบริขาร ตาลปัตร และเครื่องไทยธรรม พร้อมทั้งถวายเงินจตุปัจจัย โดยเสด็จพระราชกุศลแด่เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร เพื่อไว้ใช้ในการประกอบศาสนพิธีต่างๆ ทำนุบำรุงพระอารามหลวง มอบเงินให้ทางโรงเรียนวัดพนัญเชิง (ไตรรัตนนายก) เพื่อให้ใช้เป็นทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในระดับต่างๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 3,408,944.25 บาท

วัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งของอยุธยา ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาและไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามหนังสือพงศาวดารเหนือ กล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิงและในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้ว่า ได้มีการสถาปนาพระพุทธรูปพุทธชื่อ ”พระเจ้าพแนงเชิง” เมื่อปี พ.ศ. 1867 ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี โดยมีหลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายกพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ถือกันว่าเป็นพระโบราณคู่บ้านคู่เมืองกรุงศรีอยุธยามาแต่แรกสร้างกรุง พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1868 หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี และเมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะแตกปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าว่าพระปฏิมากรใหญ่ที่วัดพนัญเชิงมีน้ำพระเนตรไหลเป็นที่อัศจรรย์ หลวงพ่อโตเป็นพระองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ชาวจีนมากโดยเรียกกันว่า “ซำปอกง” นอกจากชาวไทยแล้วยังมีผู้มีเชื้อสายจีนหลั่งไหลกันมากราบไหว้บูชาจำนวนมากและเป็นประจำทุกปี