กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ร่วมกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ขับเคลื่อนโครงการเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชน พัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ตามแนวทาง D – HOPE

กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ร่วมกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ขับเคลื่อนโครงการเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชน พัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ตามแนวทาง D – HOPE มุ่งเน้นการใช้แนวคิด “เศรษฐกิจการสร้างประสบการณ์” ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม (Joint Coordinating Committee : JCC) โครงการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชน “Project for Community – based Enterpreneurship Promotion” ครั้งที่ 4 โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายโมริตะ ทาคาฮิโร (Mr.Morita Takahiro) หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น สำนักงานประเทศไทย และคุณมิโซเอะ เคอิโกะ (Ms.mizoe Keiko) ดร.โคอิชิ มิโยชิ (Dr.Koichi Miyochi) ผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น สำนักงานใหญ่ พร้อมด้วย คณะกรรมการประสานงานร่วม ผู้แทนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) ณ ห้องประชุม 5001 ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน

การดำเนินงานโครงการเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชนตามแนวทาง D-HOPE มีขั้นตอนการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน คือ

1) การประชุมเชิงปฏิบัติค้นหาแชมป์ เป็นการค้นหาหรือระบุตัวคนในชุมชนที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น การทำอาหารพื้นถิ่น การนวดแผนโบราณ การเป็นนักพูด นักเล่าเรื่อง เก่งด้านงานศิลปะ การแสดงทางประเพณีและวัฒนธรรมพื้นถิ่นโดยผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งเป็นภาคีพัฒนา เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 50 คน

2) การประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำโปรแกรม Hands – on ที่ผู้ชมลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการชุมชนในการจัดทำโปรแกรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และรูปแบบการจัดนิทรรศการแบบกระจายที่ผู้ชมลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง (Decentralized Hands – on Program Exhibition: D – HOPE) ผู้เข้าร่วมประชุมค้นหาแชมป์) และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดนิทรรศการแบบกระจายที่ผู้ชมลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง (Decentralized Hands – on Program Exhibition) การเขียนคำเชิญชวนให้ลูกค้าสนใจ การตั้งชื่อโปรแกรมให้น่าสนใจ การเขียนเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ และเลือกโปรแกรมที่น่าสนใจเพื่อการทดสอบโปรแกรมต่อไป

3) การทดสอบโปรแกรม Hands – on เป็นการประชาสัมพันธ์หมู่บ้านแก่นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปได้รู้จักและเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชนด้วยการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม และคนในชุมชนมีรายได้จากนักท่องเที่ยวแชมป์ที่ได้รับการซื้อโปรแกรมเตรียมการตามโปรแกรมที่ตนเองได้นำเสนอขายโปรแกรม ซึ่งประกอบด้วย กำหนดการ สถานที่จัดงาน รูปแบบการจัดงาน จำนวนผู้ที่จะร่วมงาน เตรียมคนนำเสนอ เตรียมการต้อนรับตามประเพณีของชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์สำหรับให้ผู้ซื้อโปรแกรมได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองให้เพียงพอกับจำนวน ของผู้เข้าชม และผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าได้ลงมือปฏิบัติให้เป็นของที่ระลึก การเตรียมอาหารว่างและเครื่องดื่ม เตรียมผู้รับผิดชอบเรื่องอาหารว่างและเครื่องดื่ม/อาหารกลางวัน การเตรียมนำชมจุดสำคัญ โดดเด่นของชุมชน สถานที่เช็คอิน

4) จัดงานนิทรรศการโปรแกรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นการประชาสัมพันธ์หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปได้รู้จักและเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชนด้วยการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมและคนในชุมชนมีรายได้จากนักท่องเที่ยว โดยแชมป์ร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดเพื่อวางแผนการจัดงาน ซึ่งส่วนมากจะกำหนดจัดสอดคล้องกับงานใหญ่ ๆ ของจังหวัด เช่นงานกาชาดจังหวัด งานของดีประจำจังหวัด ซึ่งเป็นโอกาสที่จะให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนและได้ลงมือปฏิบัติในผลิตภัณฑ์ที่

5) การประเมินผลแบบเสริมพลัง Empowerment Evaluation หรือการประเมินผลแบบมีส่วนร่วม เป็นการประเมินผลที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประเมิน โดยใช้เทคนิคการสนทนากลุ่มเพื่อให้ผู้ถูกประเมินทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่และแชมป์ได้มีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการดึงศักยภาพของผู้ถูกประเมินมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่และของแชมป์ด้วยกระบวนการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตนเอง

ซึ่งผลการดำเนินงาน ดังนี้

1. ผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพตามแนวทาง D-HOPR จำนวนทั้งสิ้น 7,772 คน และมีกิจกรรม Hands-on Program จำนวน 7,811 โปรแกรม

2. แคตตาล็อก รวบรวมกิจกรรม Hands-on จำนวน 676,500 เล่ม ดังนี้ ปีที่ 1 จำนวน 31,500 เล่ม ปีที่ 2 จำนวน 245,000 เล่ม ปีที่ 3 จำนวน 300,000 เล่ม ปีที่ 4 จำนวน 100,000 เล่ม

3. ร้อยละ 78% (754 คน) ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในปีที่ 1 มีความมั่นใจในการเป็นผู้ประกอบการชุมชน และร้อยละ 82 (792 คน) มีรายได้เพิ่มขึ้น

4. ได้รับรางวัลเลิศรัฐ รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2564 ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change)

นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ได้ดำเนินงานโครงการเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชน ได้พัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ กลุ่มองค์กร และครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการให้สามารถจัดกิจกรรมที่ลูกค้าลงมือทำด้วยตนเอง (Hands – on Program) ตามแนวทาง D – HOPE ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ (แชมป์) ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม โดยมุ่งเน้นการใช้แนวคิด “เศรษฐกิจการสร้างประสบการณ์” (Experience Economy) และได้ขยายผลโดยนำไปใช้ในการดำเนินงานและโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงประเพณีวัฒนธรรม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโครงการยกระดับการท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มเป้าหมายเฉพาะและประชาสัมพันธ์ภาคเหนือ ตั้งแต่ปีที่ 2562 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของโครงการ และยังดำเนินการต่อเนื่องในปี 2563 และ 2564 ในโครงการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ทำให้แนวทาง D-HOPE ได้รับการเผยแพร่และนำไปปฏิบัติครอบคลุมทั่วทั้ง ๗๖ จังหวัดแล้ว กล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ของโครงการฯ ได้สร้างผู้ประกอบการชุมชนเพิ่มขึ้น 7,772 คน และโปรแกรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นกิจกรรม Hands-on จำนวน 7,811 โปรแกรม ซึ่งร้อยละ 80 ของผู้ประกอบการชุมชน มีความรู้ความเข้าใจการส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนตามแนวทาง D – HOPE และร้อยละ 80 ของแชมป์ที่ผ่านการอบรมสามารถจัดโปรแกรม Hands – on ที่ให้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองได้ รวมทั้ง แชมป์ร้อยละ 50 ของที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดทำโปรแกรม Hands – on

นอกจากนี้ โครงการเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชนได้รับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2564 ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานของรัฐ ที่มีการดำเนินการหรือโครงการ ในฐานะที่ดำเนินการในระดับความร่วมมือ (Collaborate) และสร้างแนวปฏิบัติที่ดีจนพัฒนาเป็นต้นแบบ ที่กระตุ้นและส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ

การประชุมในวันนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่พวกเราได้มาพบปะกันอีกครั้งเพื่อรับทราบผลการดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2564 และการรับมอบโครงการจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ในโครงการได้ดำเนินการจนถึงปีที่ 4 และจะเสร็จสิ้นลงในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้ ขอขอบคุณหัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น สำนักงานประเทศไทย ผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการประสานงานร่วมโครงการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชน และผู้หัวหน้าคณะเชี่ยวชาญ ที่ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชน ตลอด 4 ปี ที่ผ่านมาจนบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

ขอขอบคุณหัวหน้าคณะผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น สำนักงานประเทศไทย ที่ส่งมอบโครงการเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชน ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนเปิดการประชุมว่า โครงการเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชนได้สร้างผู้ประกอบการใหม่ให้เกิดขึ้นจำนวนมาก มีกิจกรรมที่ผู้ชมต้องปฏิบัติด้วยตนเองหรือกิจกรรม Hands-on จำนวนมากกระจายอยู่ใน ๗๖ จังหวัด แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของแนวทาง D-HOPE ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนจะขยายผลการนำแนวทาง D-HOPE ไปดำเนินการในการสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวในหมู่บ้านที่เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าไปเที่ยวและได้รับประสบการณ์ เรียนรู้วิถีชีวิตของหมู่บ้านผ่านกิจกรรม Hands-on และสร้างความยั่งยืนตลอดไป อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย