กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางแนวทางการบริหารจัดการปุ๋ย เพื่อลดต้นทุนเกษตรกร

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมแนวทางการบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2564 – 2569 ครั้งที่ 3 ผ่านระบบ Video Conference (Zoom Meeting) โดยที่ประชุมได้มีการหารือแนวทางการบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2565 – 2569 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าว และมอบหมายให้ปรับข้อมูลตามที่ที่ประชุมเสนอแนะ อีกทั้งได้เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรจากปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยมีแผนการช่วยเหลือ ดังนี้

1.แผนระยะสั้น ประกอบด้วย

1.1 โครงการลดราคาปุ๋ยของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ สำรวจความต้องการใช้ปุ๋ยของสถาบันเกษตรกร ทั้งสูตร ปริมาณ ช่วงเวลาที่ต้องการใช้ สำหรับฤดูกาลผลิตที่จะมาถึง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ปุ๋ยของเกษตรกร เพื่อส่งข้อมูลให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

1.2 โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 ที่กรมส่งเสริการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบหลัก จำนวน 297 ศูนย์ เกษตรกร 51,252 ราย พื้นที่ 265,430.25 ไร่ โดยจะเสนอของบประมาณตามกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564

1.3 งานตามบทบาทภารกิจที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน ในปี 2565

1.4 การเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนงบกลาง จาก ครม. เพื่อชดเชยราคาปุ๋ยเคมี และค่าขนส่ง รวมทั้งการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสินเชื่อชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส.

2.แผนระยะยาว ประกอบด้วย

2.1 แผนบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2565 – 2569

2.2 ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ

2.3 การแลกเปลี่ยนปุ๋ยไนโตรเจน และโพแทส กับประเทศมาเลเซีย

2.4 การหาแหล่งแม่ปุ๋ยนำเข้าจากประเทศอื่นที่นอกเหนือจากที่เคยนำเข้าเดิม

2.5 การแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการปรับตัวสูงขึ้นของปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป