เกษตรขับเคลื่อนโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดได้ตามเป้า เครื่องจักรกลเกษตรและปัจจัยการผลิตทยอยถึงมือกลุ่มเกษตรกรแล้ว

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลการดำเนินงานโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดล่าสุด ภาพรวมโครงการ ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 พบว่า มีกลุ่มแปลงใหญ่ที่แจ้งเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 3,381 แปลง แบ่งเป็นกรมส่งเสริมการเกษตร 1,065 แปลง กรมการข้าว 2,029 แปลง กรมปศุสัตว์ 109 แปลง กรมประมง 29 แปลง การยางแห่งประเทศไทย 134 แปลง และกรมหม่อนไหม 15 แปลง โดยมีกลุ่มแปลงใหญ่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการระดับจังหวัด 3,379 แปลง คิดเป็นประมาณร้อยละ 99.94 ของจำนวนแปลงที่เข้าร่วมโครงการ ดำเนินการจัดทำ MOU กับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของสินค้าแปลงใหญ่แล้ว 3,379 แปลง คิดเป็นประมาณร้อยละ 99.94 ของจำนวนแปลงที่เข้าร่วมโครงการ และโอนเงินให้กับกลุ่มแปลงใหญ่แล้ว 3,379 แปลง คิดเป็นประมาณร้อยละ 99.94 ของจำนวนแปลงที่เข้าร่วมโครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 9,356 ล้านบาท และกลุ่มแปลงใหญ่ใช้จ่ายเงินแล้ว 3,162 แปลง วงเงินงบประมาณ 8,199 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 92.46 ของจำนวนแปลงที่เข้าร่วมโครงการ หรือประมาณร้อยละ 87.64 ของเงินงบประมาณที่โอนแล้ว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดที่มีกลุ่มแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการฯ รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบเป็นระยะ ปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการส่งมอบเครื่องจักรกลทางการเกษตร ปัจจัยการผลิต โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง และอื่นๆ ตามแผนการดำเนินโครงการและความต้องการของเกษตรกลุ่มแปลงใหญ่ เพื่อพัฒนาศักยภาพ ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ตัวอย่างเช่นเมื่อเร็วๆนี้ นายกมล โสพัฒน์ เกษตรจังหวัดลพบุรี รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี รายงานว่าได้ไปเป็นประธานเปิดใช้โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบลาโดม) และมอบเครื่องจักกลการเกษตร ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ณ กลุ่มแปลงใหญ่ ตำบลหนองกุง อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี และนางประเทือง สุขปัน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร รายงานว่าได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานของกลุ่มแปลงใหญ่มังคุดท่ามะพลา ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งทางกลุ่มได้ดำเนินการสร้างอาคารเพื่อรองรับโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House ประกอบด้วย ชุดโรงงาน เครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อเพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นโครงการนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุด สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน โดยประยุกต์มาจากบทเรียนต้นแบบของชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน และจะมีการผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งจังหวัดชุมพรต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตให้กับกลุ่มแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพ และมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม และยกระดับการผลิตไปสู่สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง