นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย – ตุรกี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ H.E. Mrs. Serap Ersoy เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทยและคณะ เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง และหารือในประเด็นความร่วมมือระหว่างกันด้านการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งแผนงานและนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายศรันย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากกรมเจ้าท่า และกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกันด้านการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งหารือถึงบทบาทคมนาคมขนส่งของไทยที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนผ่านความเชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างภูมิภาค เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดพื้นที่ EEC ของประเทศไทย โดยการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รวมทั้งการขยายเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 เพื่อเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การบูรณาการระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟทั่วประเทศ (Motorway and Railway Master Plan : MR-MAP) โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (Landbridge ชุมพร – ระนอง) การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งเปิดรับการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ แผนพัฒนาระบบรางของประเทศไทยทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เชิญชวนให้นักลงทุนตุรกีที่สนใจมาร่วมลงทุนในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ในส่วนสาธารณรัฐตุรกีมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านคมนาคม เพื่อพัฒนาระบบขนส่งในประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยตุรกีมีที่ตั้งด้านยุทธศาสตร์เชื่อมระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรป และได้นำเสนอประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่มีความสำคัญของตุรกี ซึ่งตุรกีมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือในด้านดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์กับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของไทย และได้ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลด้านการจัดซื้อจัดจ้างของไทย เพื่อนักลงทุนตุรกีสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้สาธารณรัฐตุรกีได้ให้ความสนใจการลงทุนอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ความร่วมมือด้านพาณิชย์นาวี และการขนส่งทางอากาศระหว่างไทย – ตุรกี ทั้งนี้ ประเทศไทยและตุรกีอยู่ระหว่างพิจารณาความตกลงด้านพาณิชย์นาวีและสิทธิการบินระหว่างประเทศ เพื่อความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐตุรกีต่อไป