ผู้ว่าการรถไฟฯ และอธิบดีกรมศุลกากร ลงพื้นที่หนองคาย ร่วมกันบูรณาการแผนงานยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการขยายตัวขนส่งเชื่อมต่อจีน – ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ธันวาคมนี้

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร คณะผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารกรมศุลกากร ได้ร่วมประชุมวางแผนงานและบูรณาการแผนงานของทั้งสองหน่วยงานร่วมกัน เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจีน – ลาว – ไทย จากรถไฟจีน – ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์)

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ถือเป็นความสำเร็จในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระบบรางของทั้ง 2 ประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดจนรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างไทย-ลาว ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน ช่วงเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้ประชุมและลงพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมกับอธิบดีกรมศุลกากรในการรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางเชื่อมระหว่าง จีน – ลาว ซึ่งจะเริ่มให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้และได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องของจังหวัดหนองคายประกอบด้วย นายด่านศุลกากรหนองคายแขวงทางหลวงหนองคาย กองบังคับการตำรวจภูธรหนองคาย และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย ในการทดลองขบวนรถไฟขนส่งสินค้าความยาว 25 แคร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟ ช่วงหนองคาย-ท่านาแล้ง โดยในปี 2564-2565 มีการเพิ่มขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจากเดิมวันละ 4 ขบวน (ไป – กลับ) เป็น 10 ขบวนไป-กลับ พ่วงขบวนละ 25 แคร่ ช่วงในปี 2566-2568 จะปรับเพิ่มขบวนรถขนส่งสินค้าเป็นวันละ 16 ขบวน (ไป – กลับ) พ่วงขบวนละ 25 แคร่ และตั้งปี 2569 เป็นต้นไป จะเพิ่มขบวนรถเป็น 24 ขบวน (ไป – กลับ) พ่วงขบวนละ 25 แคร่ ซึ่งไม่รวมขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศที่เดิมปกติมีให้บริการวันละ 4 ขบวน (ไป – กลับ) “การเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างไทย – ลาว จากสถานีหนองคายถึงลานตู้สินค้า ท่านาแล้ง สปป.ลาว จะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกต่อการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ของทั้ง 2 ประเทศ

นายนิรุฒกล่าวเพิ่มเติมว่า การรถไฟฯ ยังมีแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีหนองคาย และพื้นที่ CY หรือศูนย์รวบรวมและเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่สถานีรถไฟนาทาเพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าทางรางในพื้นที่ ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จากท่าเรือแหลมฉบัง มายังสถานีหนองคายและต่อขยายถึงที่ลานตู้สินค้า ที่ท่านาแล้ง สปป.ลาว ได้โดยตรง เพื่อรองรับ
การเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในอนาคต

ทั้งนี้ แผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย จะมีการพัฒนาพื้นที่สถานีทั้งหมด 80 ไร่ รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ระบบรางเชื่อมโยงภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมศักยภาพระบบขนส่งในภูมิภาค สร้างงานสร้างอาชีพ ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น และสนับสนุนให้ไทย เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล”

Facebook ทีมพีอาร์การรถไฟฯ : https://www.facebook.com/129946050353608/posts/5156512757696887/?d=n

Twitter : https://twitter.com/PR_SRT/status/1457589281048838159?s=20

IG : https://www.instagram.com/p/CWAQxJTBC-n/?utm_medium=copy_link