พม. ใช้ TPMAP บูรณาการ/แก้ไขความยากจนกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนในพื้นที่ จ.อุดรธานี

วันที่ 8 พ.ย. 64  นางสาวมนิดา ลิ่มนิจสรกุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 64 นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มอบหมายให้ตนติดตามการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระด้วยระบบการบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ณ จังหวัดอุดรธานี เพื่อศึกษาการดำเนินการในพื้นที่โรงเรียนและบ้านโนนสุขสมบูรณ์ และนำผลการศึกษามาสู่การพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา

นางสาวมนิดา กล่าวต่อไปว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า ชุมชนประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อมาทำการเกษตร และมีสารเคมีตกค้างจากการทำเกษตรที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน ทั้งนี้ ชุมชนได้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยจัดทำแผนและมาตรการส่งเสริมครัวเรือนทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี และทำข้อตกลงในครัวเรือน เริ่มจากการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และใช้การปลูกผัก เกษตรปลอดภัย ผ่านการสร้างความตระหนักให้กับคนในชุมชน และการศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เกิดการใช้พลังงานทดแทน คือ แผงระบบโซลาร์เซลล์ (ชุมชนเรียนรู้) โดยมีการอบรมให้คนในชุมชน “จัดทำบัญชีครัวเรือนบ้านสุขสมบูรณ์” ให้กับแกนนำในชุมชน เช่น กลุ่มเกษตรกร ผู้นำชุมชน ครู เป็นต้น และนำไปขยายผล เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และเกิดการวางแผนการใช้จ่าย โดยใช้สมุดบัญชีครัวเรือนและสมุดบัญชีวิสาหกิจชุมชน เป็นเครื่องมือ ส่งผลให้เกิดรายได้กลับเข้ามาสู่เป็นเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนี้ ยังพัฒนาหลักสูตรเกษตรปลอดภัยในโรงเรียนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งพัฒนาหลักสูตรจากการถอดบทเรียนร่วมกับครู นักเรียน และชุมชน

นาวสาวมนิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่สร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดโครงการ และมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน และเราต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และขับเคลื่อนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้  กระทรวง พม. ได้มีการคัดกรองข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) จังหวัดอุดรธานี  ซึ่งพัฒนาระบบโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนารายครัวเรือน และการจัดระดับครัวเรือนเปราะบางในสามระดับ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางให้ครอบคลุมในทุกมิติแบบองค์รวม อีกทั้งยังมีการขับเคลื่อนชุมชนอย่างครอบคลุมในมิติ 5 ด้าน ได้แก่

1) มิติด้านสุขภาพ

2) มิติด้านความเป็นอยู่

3) มิติด้านการศึกษา

4) มิติด้านรายได้

5) มิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ บนฐานทรัพยากรชุมชน  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมของรัฐบาล

##################