อธิบดีกรมหม่อนไหมลงพื้นที่โคราช ติดตามความเสียหายเกษตรกรจากอุทกภัยหลังน้ำลด

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม พร้อมผู้อำนวยการสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 4 จ.นครราชสีมา และศูนย์เครือข่าย เดินทางไปพบปะและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรหม่อนไหมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ณ ต.บึงสำโรง อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีเกษตรกรหม่อนไหมได้รับความเสียหายจำนวน 4 ราย พื้นที่แปลงหม่อนเสียหาย 43 ไร่ เป็นเกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม และขายรังให้กับบริษัท จุลไหมไทย จํากัด ความเสียหายมีระดับความรุนแรง เพราะเป็นพื้นที่ติดลำน้ำชี มีน้ำท่วมสูงระดับ 3-4 เมตร และกระแสน้ำยังคงไหลหลาก มีความรุนแรง ทำให้แปลงหม่อนถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน อุปกรณ์สำหรับเลี้ยงไหม เครื่องยนต์การเกษตร รวมทั้งโรงเลี้ยงไหมขนาด 8×16 เมตร จำนวน 4 โรง ได้รับความเสียหายจากการแสน้ำพัดพาสูญหาย

ทั้งนี้ กรมหม่อนไหม ได้มอบหมายสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระกียรติฯ เขต 4 จ.นครราชสีมา ติดตามความเสียหายและให้การช่วยเหลือ โดยในเบื้องต้น ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ได้มอบต้นพันธุ์หม่อนชำแบบล้างราก จำนวน 64,400 ต้น หลังจากน้ำลด เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรปลูกต่อไป

พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมหม่อนไหมได้มอบถุงยังชีพเป็นกำลังใจให้แก่กลุ่มเกษตรกร พร้อมแนะแนวทางในการเพิ่มรายได้ด้วยการเลี้ยงไหมมันสำปะหลัง (อีรี่) ซึ่งกินใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร เลี้ยงง่าย มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศร้อน มีวงจรชีวิต 45 – 60 วัน เลี้ยงได้ 6 – 7 รุ่นต่อปี เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการขายรังและดักแด้ ประมาณ 6,000 บาทต่อรุ่น ซึ่งปัจจุบันมีตลาดซึ่งมีความต้องการรับซื้อรังไหมถึง 30 ตัน/เดือน แต่เกษตรกรยังผลิตได้ประมาณ 10 ตัน/เดือน การเลี้ยงไหมอีรี่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นอาชีพหลักได้เป็นอย่างดี