กฟผ. จับมือ วิศวะจุฬาฯ สานต่อความร่วมมือ ศูนย์วิจัยพลังงานและนวัตกรรมด้านการเกษตร ตามหลัก “บวร” ในพื้นที่ “โคก หนอง นา พช.” วัดป่าศรีแสงธรรม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำโดยนายเอกรัฐ สมินทรปัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและแผนงานโรงไฟฟ้า ร่วมกับ นายวิมล ไชยมงคล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์โครงการ, นายคงเดช ศรีสำราญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและก่อสร้างโรงไฟฟ้า จัดกิจกรรมความร่วมมือศูนย์วิจัยพลังงานและนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน โดยในกิจกรรมได้มีการหารือร่วมกับนักวิชาการถึงแนวทางการพัฒนาพลังงาน การปลูกพืชรวมถึงพืชพลังงาน และลงพื้นที่ศึกษาสำรวจพืชไร่ ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

โดยมีการบินโดรนเก็บภาพของพื้นที่การศึกษา และประชุมเพื่อวางแผนการปลูกชนิดพันธุ์พืชตามสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตต่อไป ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กฟผ. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และวัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อยกระดับการพัฒนาโคกอีโด่ยวัลเลย์วัดป่าศรีแสงธรรม เป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” วัดป่าศรีแสงธรรม ที่กรมการพัฒนาชุมชนสนับสนุนงบประมาณการทำโคก หนอง นา 15 ไร่ และขับเคลื่อนไปทั่วประเทศอย่างเป็นมรรคเป็นผล ซึ่งในขณะนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ กรมการพัฒนาชุมชน นำโดย นายสมคิด จันทมฤก เป็นผู้ผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ระยะที่ 3 ให้พี่น้องประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการต่อไป

โอกาสนี้ คุณกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ. และนายสังวาล พรมสำลี หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ได้นำคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมประชุมหารือกำหนดพื้นที่การวิจัยและพัฒนา ต่อยอดสู่ความยั่งยืน เป็นต้นแบบของประเทศ สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโมเดลใหม่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งวัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ เป็นตัวอย่างการดำเนินการในทุกระดับและทุกมิติของสังคม หรือจะเรียกว่า “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์”

สำหรับ “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์” นั้น เริ่มต้นจากโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวัง” วัดป่าศรีแสงธรรม ได้ดำเนินการต่อยอดจากการเป็นวิทยากรในฟาร์มตัวอย่างที่ศูนย์ศิลปาชีพยางน้อย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยทางวัดป่าศรีแสงธรรม ได้แบ่งพื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์ที่นักเรียนทำนาเป็นประจำทุกปี มาขุดเป็น “โคก หนอง นา” ซึ่งได้งบประมาณการขุดจากงบพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 50,000 บาท และทางวัดสนับสนุนเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงขุดเพิ่มเติมอีก 300,000 บาท ในเนื้อที่ 20 ไร่ ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มีนาคม 2564 มีกิจกรรมที่นักเรียนมาช่วยพัฒนา ปลูกต้นไม้ทุกวันประมาณวันละ 50 คน ระหว่างดำเนินการมีชาวบ้านที่อยู่รอบวัด และคนที่ได้รับผลกระทบการถูกเลิกจ้างงานช่วงโควิด 19 กลับมาจากโรงงานมาทำงานในโครงการประมาณ 23 คน ทางวัดจ้างวันละ 300 บาท นอกจากจะทำงานก่อสร้าง ทำงานเกษตรภายในวัดแล้ว ยังได้สอนการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้กับช่างเพื่อเดินสายไปติดตั้งตามโรงพยาบาลต่าง ๆ หรือรับจ้างตามโรงงานอีกด้วย

ปัจจุบัน วัดป่าศรีแสงธรรม ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ณ บริเวณโครงการพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง ซึ่งทางวัดได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์อบรมประชาชนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ของกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการที่จังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 11 รุ่น ๆ ละ 100 คน ระยะเวลาการอบรม 4 วัน 5 คืน ซึ่งกิจกรรมการอบรมคณะครูของโรงเรียนทั้งหมดจะเป็นวิทยากร และมีนักเรียนเป็นผู้ช่วยวิทยากร และปัจจุบันได้มีการขุดแปลงโคก หนอง นา พช. แปลง CLM อีก 15 ไร่ ภายในวัด โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน และทหารหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 51 อำนาจเจริญ จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาแบบร่วมมือกัน “บวร” คือบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ในพื้นที่ 15 ไร่ ภายในวัดป่าศรีแสงธรรม

#WorldSoilDay
#GlobalSoilPartnership
#UNFAO
#กรมการพัฒนาชุมชน
#CDD
#SEPtoSDGs
#SDGforAll@Kmitl
#WorldSoilDayCDD

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน