การหารือทวิภาคีระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

การหารือทวิภาคีระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (The German Federal Ministry for the Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety: BMU)

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำให้สำนักงานนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งรัดหารือความร่วมมือกับสาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ของประเทศไทย ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุม COP26

ในการนี้ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. และ ดร.ณัฏฐนิช อัศวภูษิตกุล ผอ.กปอ. พร้อมเจ้าหน้าที่ สผ. ได้หารือทวิภาคีร่วมกับกับ Dr. Philipp Behrens ผู้อำนวยการแผนงานการปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (International Climate Initiative: IKI) ผู้แทนกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ณ Thailand’s Delegation Office ในระหว่างการประชุม COP26 ซึ่งผู้แทนทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความชื่นชมต่อการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ขณะที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2045 ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ใช้โอกาสนี้หารือความก้าวหน้าและเร่งรัดการดำเนินความร่วมมือในปัจจุบัน อาทิ กรอบความร่วมมือทวิภาคีภายใต้แผนงานการปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล ระหว่างปี ค.ศ. 2022 – 2026 ที่สาธารณรัฐเยอรมนีจะให้การสนับสนุนงบประมาณ 40 ล้านยูโร (ประมาณ 1,540 ล้านบาท) ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อผลกระทบ และการเสริมสร้างบทบาทของกองทุนสิ่งแวดล้อมของไทยในการสนับสนุนโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ เลขาธิการ สผ. ได้ขอให้สาธารณรัฐเยอรมนีเร่งสนับสนุนและผลักดันโครงการ Transfer project ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนายานยนต์สะอาดในประเทศไทย (Thailand Clean Mobility Programme: TCMP) โดยการออกแบบกลไกทางการเงินและโมเดลทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งมวลชน ซึ่งมีแผนที่จะจัดทำโครงการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และขอให้เร่งผลักดันโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Strengthening Climate Smart Rice Farming) เพื่อส่งเสริมการทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและมีความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดส่งแนวคิดโครงการฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน Green Climate Fund นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายหารือต่อแนวทางความร่วมมือในอนาคต ทั้งในสาขาเกษตร คมนาคม และการจัดการของเสีย และแสวงแนวทางความร่วมมือเพิ่มเติมภายใต้ NDC Partnership และ NAMA Facility เนื่องจากความร่วมมือและการสนับสนุนจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยยกระดับการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวฯ ของไทยให้บรรลุตามเป้าหมายที่แสดงเจตนารมณ์ไว้