กรมทางหลวงร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยว ดันเศรษฐกิจไทยสู่ภาคใต้ เร่งขยายสาย อ.ตะกั่วป่า -อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เป็น 4 ช่องจราจรตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล โดยช่วงตะกั่วป่า-ท้ายเหมืองคืบหน้ากว่า 75 % แล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายนปี 2565

กรมทางหลวงขานรับนโยบายรัฐบาล และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้มอบให้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพิ่มมาตรฐานทางหลวงสายหลักเชื่อมโยงสู่พื้นที่ภาคใต้ โดยทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) เป็นเส้นทางสายหลักของภาคใต้ มีความสำคัญต่อการคมนาคมเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีปริมาณจราจรค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสภาพทางช่วงจังหวัดระนองและจังหวัดพังงาเป็น 2 ช่องจราจร ประกอบกับเป็นเส้นทางสายหลักของแหล่งท่องเที่ยวในชายฝั่งทะเลอันดามัน รวมทั้งเป็นเส้นทางเชื่อมกับจังหวัดภูเก็ตซึ่งมีสนามบินนานาชาติ กรมทางหลวงจึงมีแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงสาย อ.ตะกั่วป่า-อ.ตะกั่วทุ่ง (บ.โคกกลอย) เป็นทางหลวงมาตรฐานขนาด 4 ช่องจราจรตลอดเส้นทางรวมระยะทางทั้งสิ้น 77.67 กิโลเมตร เพื่อรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ โดยที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ขยายเส้นทางแล้วเสร็จรวมระยะทาง 43.90 กิโลเมตร และเปิดให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไปแล้ว

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดการขยายเส้นทางดังกล่าวในส่วนที่เหลือ 33.76 กิโลเมตร เพื่อเติมเต็มโครงข่ายเส้นทางคมนาคมสู่ภาคใต้ให้สมบูรณ์ตลอดเส้นทาง เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้เดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็วปลอดภัยตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีช่วงที่อยู่ระหว่างดำเนินการคือ

📌 ตอน ตอน บ.เขาหลัก- บ.ลำแก่น ระยะทาง 6 กิโมเมตร ระหว่าง กม.797+000-803+000 ดำเนินการออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างเตรียมการจัดส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน ทั้งนี้หากรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว คาดว่าจะเสนอของบประมาณก่อสร้างในปี 2567

📌 ตอน บ.บางสัก-บ.เขาหลัก ระยะทาง 20.36 กิโลเมตร และ ตอน อ.ตะกั่วป่า-บ.บางสัก ระยะทาง 7.40 กิโลเมตร ในพื้นที่ อ.ตะกั่วป่า อ.ท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมระยะทาง 27.76 กิโลเมตร

กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 จึงเร่งดำเนินโครงการขยายเส้นทางดังกล่าวทั้ง 2 ตอนให้แล้วเสร็จ โดยขยายเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 – 6 ช่องจราจร ไป-กลับ ผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.5 เมตร แยกทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบยก (Raised Median) สลับกับเกาะกลางแบบ Concrete Barrier Median ให้สอดคล้องเหมาะสมกับภูมิประเทศและเขตทาง โดย ตอน บ.บางสัก-บ.เขาหลัก ช่วง กม.792+200- กม.795+400 ได้ออกแบบเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 6 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยกพร้อมไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร และ Bike lane กว้าง 2.30 เมตร สำหรับรถจักรยานยนต์และรถจักรยาน เพื่อแบ่งทิศทางการจราจรให้ปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว

รวมงานก่อสร้างสะพานคอนกรีต 6 แห่ง และจุดกลับรถใต้สะพาน 1 แห่ง ก่อสร้างศาลาทางหลวงในบริเวณสองข้างทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนจำนวน 15 แห่ง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดรวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยต่างๆ ตามมาตรฐานกรมทางหลวง งบประมาณ 1,035 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 75% คาดว่าจะก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน 2565

โครงการดังกล่าวหากแล้วเสร็จจะเติมเต็มโครงข่ายระบบคมนาคมให้สมบูรณ์ รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น ยกระดับความปลอดภัยทางถนน และลดระยะเวลาในการเดินทาง เนื่องจากโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสายหลักที่สำคัญในการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามัน ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงสายหลักเพื่อช่วยกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ