อธิบดีพช. ปลื้ม สพจ.ชลบุรี ได้รับเลือกเป็นองค์กรต้นแบบด้านการรณรงค์ส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองจังหวัดชลบุรี ประจำปี 64

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า “จังหวัดชลบุรี โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี ได้ดำเนินการคัดเลือกองค์กรและบุคคลต้นแบบทางวัฒนธรรมด้านการรณรงค์ส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองของจังหวัดชลบุรี ประจำปี 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสืบสานเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชลบุรี และสมัครเข้าร่วมคัดเลือกเป็นองค์กรต้นแบบและส่งนางสุกุมล คุณปลื้มที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดชลบุรี สมัครเข้าร่วมคัดเลือกประเภทบุคคลต้นแบบแห่งวัฒนธรรมด้านการรณรงค์ส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองของจังหวัดชลบุรีประจำปี 2564

“จังหวัดชลบุรี ได้ประกาศผลการคัดเลือกองค์กรและบุคคลต้นแบบทางวัฒนธรรมด้านการรณรงค์ส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองของจังหวัดชลบุรี ประจำปี 2564 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชลบุรี ได้รับคัดเลือกเป็นองค์กรต้นแบบ โดยนางสุกุมล คุณปลื้ม ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลต้นแบบทางวัฒนธรรมด้านการณรงค์ส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองของจังหวัดชลบุรี ประจำปี 2564

นายประเมิน อุมา พัฒนาการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “ในนามสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชลบุรี รู้สึกยินดีและดีใจ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นองค์กรต้นแบบทางวัฒนธรรมด้านการรณรงค์ส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองของจังหวัดชลบุรี ประจำปี 2564 ทั้งนี้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชลบุรี ได้รณรงค์ส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดส่วนราชการและภาคีเครือข่าย งานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ แต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ในโอกาสที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาผ้าถิ่นไทยและยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานและรายได้แก่กลุ่มผู้ผลิตผ้า ตัดออกแบบ และสั่งตัดเย็บเสื้อผ้าต่อไปอีกด้วย

จังหวัดชลบุรี มีผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อ ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 100 ปี ครั้งที่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมายังตำบลอ่างศิลา หรือที่คนในสมัยก่อนเรียกกันว่า บ้านอ่างหิน พระองค์ทรงเห็นความยากลำบากในการทำมาหากินของชาวบ้าน จึงมีพระราชดำริในการสร้างอาชีพ ด้วยการสอนการทำผ้าทอมือให้แก่ชาวบ้านปึก จนกลายมาเป็นสินค้าขึ้นชื่อในสมัยนั้น และกลายเป็นสินค้าชื่อดังของจังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน

เปิดตำนาน “ผ้าทอมืออ่างหิน” สมัย ร.5 สู่ “ผ้าทอคุณย่าท่าน” สินค้าชื่อดังเมืองชลบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชน เข้ามาดูแลสานต่องานเพื่ออนุรักษ์ และสืบสานให้อยู่ยั่งยืนสู่คนรุ่นหลัง จังหวัดชลบุรี ฟื้นฟูการทอผ้าอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ. 2545 ที่โรงเรียนวัดใหม่เกตุงาม และต่อมา ในปี พ.ศ. 2546 เปลี่ยนชื่อผ้าทอ “อ่างศิลา” เป็น “ผ้าทอบ้านปึก” การทอผ้าดำเนินไปด้วยดีจนถึงปัจจุบัน โดย มีสมาชิกทอผ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ทอผ้าฝ้าย อาทิ ผ้าฝ้ายลายพิกุล ผ้าขาวม้าลายสก็อต นอกจากนี้ ที่บ้านบึงอำเภอบ้านบึง ยังมีการทอผ้าฝ้ายพื้น ผ้าทอปักตัวอักษร ผ้าขาวม้า และเพื่อเป็นการสืบสานและรักษา ไม่ให้สูญเสียจึงบรรจุวิชาการทอผ้าในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนในปัจจุบัน