ชป.เดินหน้าโครงการพัฒนากว๊านพะเยา/เวียงหนองหล่ม หวังเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการพัฒนากว๊านพะเยา จ.พะเยา และโครงการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟู เวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย หวังเพิ่มปริมาณน้ำให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ตามนโนบายของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา และเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย ผ่านระบบ VDO Conference ที่มีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม ว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดพะเยา รวมทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยรู ระยะเวลาดำเนินงาน 10 ปี (ปี 2559-2568) โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ ระยะเวลาดำเนินงาน 8 ปี (ปี 2562-2568) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เมาะ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทราย อยู่ในระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และอุทยาน

สำหรับโครงการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา กรมชลประทาน ได้รับการจัดสรรงบประมาณ งบกลาง ประจำปี 2564 เพื่อดำเนินการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูกว๊านพะเยา ประกอบด้วย งานขุดลอกคลองระบายน้ำรอบกว๊าน 0.24 ล้าน ลบ.ม. งานขุดลอกตะกอนดิน 0.857 ล้าน ลบ.ม. และงานอาคารประกอบต่างๆ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปี 2567

ในส่วนของโครงการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย นั้น ได้กำหนดแผนดำเนินงานไว้ 4 ปี (ปี 2565-2568) โดยปี 2565 จะขุดลอกตะกอนดิน 2 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 1,430 ไร่ พร้อมก่อสร้างอาคารระบายน้ำ 2 แห่ง ฝายทดน้ำและระบบส่งน้ำ ความยาว 11 กม. พื้นที่รับประโยชน์ 2,400 ไร่ ทั้งยังสามารถผันน้ำไปเติมในหนองได้อีกประมาณ 15 ล้าน ลบ.ม./ปีอีกด้วย ส่วนในปี 2566 จะทำการขุดลอกตะกอนดิน 4.8 ล้าน ลบ.ม. และขุดลอกลำน้ำแม่ลัว ความยาว 16.20 กม. เพื่อบรรเทาอุทกภัย มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 3,440 ไร่ ในเขตตำบลจันจว้า และตำบลท่าข้าวเปลือก อำเภอแม่จัน ส่วนในปี 2567 จะทำการขุดลอกตะกอนดิน 3 ล้าน ลบ.ม. และก่อสร้างอาคารท่อลอดถนน 7 แห่ง มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 2,150 ไร่ และในปี 2568 จะดำเนินการขุดลอกตะกอนดิน 2.2 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 1,580 ไร่ หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำต้นทุนรวมทั้งสิ้น 20 ล้าน ลบ.ม. ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 11,000 ไร่ และเพื่อการอุปโภค บริโภค จำนวน 10,008 ครัวเรือน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงรายมีความมั่นคงด้านน้ำ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน